KTB ชี้ตั้งรัฐบาลช้า กระทบเบิกจ่ายงบ กดดันศก.ไทยปี 66 โตต่ำกว่าคาด

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า จากการที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2/66 ของไทย ที่ขยายตัว 1.8% นั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.1% ส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของสินค้าคงคลัง โดยการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังในไตรมาสนี้ลดลง 94.6 พันล้านบาท ทำให้ฉุดจีดีพีลงราว -1.7 ppt. (เพิ่มเติมจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว 5.7% ซึ่งกระทบต่อจีดีพี -3.7 ppt.)

โดยการสะสมสินค้าคงคลังลดลงในสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และเหมืองแร่ คาดว่าเป็นการลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ปัจจัยหลักจากภาคการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจมีความกังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ จึงลดการสต็อกสินค้าในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/66 ขยายตัว 1.8%YoY หรือเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 0.2% QoQSA โดยการรายงานเศรษฐกิจด้านรายจ่ายในไตรมาสที่ 2/66 มีประเด็นหลักๆ ได้แก่ การอุปโภคบริโภคเอกชนขยายตัว 7.8% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลหดตัว 4.3% การลงทุนรวมขยายตัว 0.4% มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ 5.6% และการส่งออกบริการ ขยายตัว 54.6%

พร้อมกันนี้ สภาพัฒน์ยังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.5-3.0% จากประมาณการเดิมที่ 2.7%-3.7% โดยมีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้สภาพัฒน์ปรับคาดการณ์มูลค่าการส่งออกว่าจะหดตัวมากขึ้นเป็น 1.8% (จากเดิม -1.6%) รวมถึงปรับลดรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ อยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท (จากเดิม 1.27 ล้านล้านบาท) และการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ประเมินว่า เศรษฐกิจมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว และตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

จับตาตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า กระทบการเบิกจ่ายงบปลายปี

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มทำให้การจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีความล่าช้าออกไป ซึ่งจะกระทบต่อการเบิกใช้จ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 (หรือไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567) โดยปกติการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ สามารถดำเนินได้ตามกรอบงบประมาณเดิมในปีก่อน ขณะที่การเบิกจ่ายด้านการลงทุน อาจได้รับผลกระทบจากการอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ที่ล่าช้ากว่าคาด

เช่นเดียวกับในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ที่เคยเกิดปัญหาการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า จากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุน ซึ่งต่ำกว่าช่วงปกติถึง 70% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562

“ประเมินว่าการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีแนวโน้มล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1 ไตรมาส ซึ่งจะกระทบต่อการเบิกใช้จ่ายงบประมาณด้านการลงทุนเป็นสำคัญ และคาดว่าจะกระทบต่อการลงทุนภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ประมาณ 5-7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2-0.4% ของ GDP ปี 2566 ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดัน ทำให้เศรษฐกิจปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้” บทวิเคราะห์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top