ยอดส่งออกรถยนต์ ก.ค. แตะ 1 แสนคัน โต 30% หลังปัญหาขาดแคลนชิปคลี่คลาย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ก.ค.66 อยู่ที่ 108,052 คัน เพิ่มขึ้น 30.05% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 90,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 21.32%

สาเหตุที่การส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 แสนคัน เป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์คลี่คลาย ทำให้สถานการณ์การผลิตเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติ

ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกของปี 66 (ม.ค.-ก.ค.66) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปทั้งสิ้น 636,868 คัน เพิ่มขึ้น 19.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 396,769.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ส.อ.ท.คาดว่าในปี 66 จะสามารถส่งออกรถยนต์ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 1.05 ล้านคัน ซึ่งเป็นระดับที่เทียบเท่ากับในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 62

“ยอดส่งออกเดือน ก.ค.ยังเติบโตได้ดี หลังปัญหาขาดแคลนชิปคลี่คลาย และการส่งออกรถยนต์ยังเป็นสินค้าสำคัญที่ช่วยหนุนให้การส่งออกของประเทศปีนี้เติบโต” นายสุรพงษ์ กล่าว

 

*การผลิต

 

ยอดผลิตรถยนต์ในเดือน ก.ค.66 มีจำนวนทั้งสิ้น 149,709 คัน เพิ่มขึ้น 4.72% จากเดือน ก.ค.65 และเพิ่มขึ้น 2.85% จากเดือน มิ.ย.66 แยกเป็น การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 9.48% แต่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 63,147 คัน ลดลง 1.16% จากเดือน ก.ค.65 เพราะรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,071,221 คัน เพิ่มขึ้นเพียง 0.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“การผลิตชะลอตัวลงตามยอดขายในประเทศ เนื่องจากมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ตลาดมีความต้องการมากขึ้น” นายสุรพงษ์ กล่าว

 

*ยอดขาย

 

ยอดขายรถยนต์ในประเทศในเดือน ก.ค.66 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,419 คัน ลดลง 8.77% จากเดือน ก.ค.65 และลดลง 9.30% จากเดือน มิ.ย.66 เนื่องจากสถาบันการเงินมีมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์หลังแนวโน้มหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อีกทั้งสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 1.89% เป็น 2.05%

อัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นเป็นเหตุให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทำให้อำนาจซื้อลดลงส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง รวมทั้งการส่งออกของสินค้าหลายอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันหลายเดือน ทำให้ลดการทำงานล่วงเวลาลง รายได้ของคนทำงานลดลง เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) มียอดขายรถยนต์รวม 464,550 คัน ลดลง 5.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ยอดขายในประเทศปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่ปรับลดลงจาก 9 แสนคัน มาอยู่ที่ 8.5 แสนคัน เพราะมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่หวังว่าหลังมีรัฐบาลแล้วจะมีมาตรการที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีในไตรมาส 4” นายสุรพงษ์ กล่าว

 

*ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง

 

– BEV เดือน ก.ค.66 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่ 6,904 คัน เพิ่มขึ้น 373.20% จากเดือน ก.ค.65 ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) มี BEV จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 49,949 คัน เพิ่มขึ้น 469.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยล่าสุดมียานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV จดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 81,863 คัน เพิ่มขึ้น 307.54% จากปีที่แล้ว

– HEV เดือน ก.ค.66 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่ 5,950 คัน เพิ่มขึ้น 30.86% จากเดือน ก.ค.65 ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) มี HEV จดทะเบียนใหม่สะสม 52,090 คัน เพิ่มขึ้น 39.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยล่าสุดมียานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV จดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 311,150 คัน เพิ่มขึ้น 32.33% จากปีที่แล้ว

– PHEV เดือน ก.ค.66 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่ 977 คัน เพิ่มขึ้น 26.06% จากเดือน ก.ค.65 ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) มี PHEV จดทะเบียนใหม่สะสม 7,249 คัน เพิ่มขึ้น 7.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยล่าสุดมียานยนต์ไฟฟ้าประเภท PHEV จดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 49,587คัน เพิ่มขึ้น 31.04% จากปีที่แล้ว

 

นายสุรพงษ์ หวังว่า รับบาลใหม่จะเข้ามาอนุมัติโครงการ EV3.5 หลังจากโครงการเดิมจะสิ้นสุดในปลายปีนี้ เพื่อให้การลงทุนจากต่างประเทศไม่สะดุด เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top