“วิษณุ” ไม่รับร่วมคณะแก้รธน.ชุดภูมิธรรม แต่พร้อมให้คำปรึกษารายกรณี

นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เตรียมที่จะเทียบเชิญบุคคลสำคัญเป็นคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เข้าใจว่าเป็นการถามนำของผู้สื่อข่าว แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณที่ยังนึกถึง แต่งานที่ทำถือว่าเป็นงานใหญ่ ต้องใช้เวลาและยุ่งยาก ที่สำคัญอยู่ที่ความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้ง แต่เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว ก็ไม่ควรที่จะหวนกลับไปเป็นบุคคลสาธารณะอีก เพราะการไปทำงานเช่นนี้ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ และทุกวันนี้ก็มีความสบายใจดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี หากจะมาขอคำปรึกษาในบางครั้งบางคราว ตนเองก็ยินดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่บ้าง โดยเฉพาะรัฐมนตรีหน้าเก่าที่เคยอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนมีความคุ้นเคยกัน จึงมีการโทรศัพท์มาสอบถามในบางประเด็นที่สงสัย เช่น มติครม.เก่าๆ

ส่วนเรื่องโครงสร้างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรนั้น นายวิษณุ อยากให้รัฐบาลชุดนี้ไปคิดกันเอง เพราะมองว่ามีความยุ่งยากซับซ้อน แต่จะด้วยวิธีไหนก็ตาม ควรเลี่ยงการทำประชามติหลายครั้ง ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แม้จะแก้ทีละหลายมาตราก็ได้

หากเวลานี้อยากแก้หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการ และหมวด 4 หน้าที่ของรัฐ หมวด 5 หน้าที่ปวงชนชาวไทย หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา ในเรื่องการเลือกตั้งรวมเขตแบ่งเขต สามารถแก้ไขได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องทำประชามติ ส่วนหมวด 8 เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี หมวด 9 เรื่องผลประโยชน์ความขัดแย้งกัน หมวด 10 เรื่องของศาล หมวด 11 องค์กรอิสระ เรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด แต่เมื่อเป็นหมวดองค์กรอิสระ หากการแก้ไขอำนาจหน้าที่ คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม จะต้องไปเจอกับการทำประชามติ

“ดังนั้น ตั้งแต่หมวด 3-9 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หมด โดยเหตุผลที่ต้องทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้บัญญัติว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อแก้ไขมาตรา 256 เสร็จก็จะไม่เจอกับการทำประชามติ แต่ถ้าไม่ใช้วิธีแก้แบบนี้ จะต้องไปทำประชามติว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเห็นด้วยหรือไม่ และต้องไปเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็จะต้องทำประชามติทั้งประเทศ ซึ่งการทำประชามติแต่ละครั้งใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเริ่มที่การแก้ไขมาตรา 256 หากพูดคุยกันไม่ได้ ก็จะไม่ผ่าน เพราะตอนนี้ยังมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อยู่ อย่างน้อยการจัดทำประชามติควรมี 2 ครั้ง

นายวิษณุ กล่าวว่า หากต้องการแก้ไของค์กรอิสระ จะกระทบต่อคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งต้องทำประชามติ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรแก้ไขทีหลังได้หรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 66)

Tags: ,
Back to Top