พับแผนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเหลือง, เปิดเดินรถสายสีชมพูต้นปี 67

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ข้อเสนอการขอต่อขยายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทางประมาณ 2.6 กม. ของบริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน สายสีเหลืองที่ยื่นเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมในการประมูลถือว่าสิ้นสุดแล้ว หลังจากโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 66

ที่ผ่านมา รฟม. และ EBM ได้มีหนังสือหารือกันหลายครั้ง ล่าสุดจากที่รฟม.ได้มีการติดต่อทางหนังสือไปทางเอกชนนิ่งเฉย จนกระทั่งเปิดเดินรถ สายสีเหลือง จึงเท่ากับหมดระยะเวลาของข้อเสนอดังกล่าวไปตามเงื่อนไข

สำหรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเหลือง จากลาดพร้าว-รัชโยธิน (เพื่อเชื่อมต่อสายสีเขียว) นั้นเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชน ไม่ได้อยู่ในแผนแม่บทเดิม หรือ M Map ที่วางโครงข่ายสายสีเหลือง สิ้นสุดปลายทางที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว โดยให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ประชาชนสามารถเดินทางต่อเชื่อมได้ ไม่มีผลกระทบและเป็นโครงข่างระบบรางตามแผนแม่บท ที่มีการศึกษาไว้ครบถ้วน

ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า ปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีปริมาณผู้โดยสาร ในวันธรรมดาเฉลี่ย 4 หมื่นคน-เที่ยว/วัน วันหยุด เสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ย 2.8 หมื่นคน-เที่ยว/วัน ซึ่งลดลงจากช่วงที่เปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี ที่มีกว่า 7 หมื่นคน-เที่ยว/วัน โดยปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นต้องใช้เวลาเพื่อให้ประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง โดยเฉลี่ยผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเติบโตปีละประมาณ 10% ซึ่งประเมินว่า ผู้โดยสารในระดับ 1 แสนคน-เที่ยว/วันจึงจะคุ้มทุน

“รฟม.ได้จ่ายเงินสนับสนุนงานโยธา ปีแรกจำนวน 2,505 ล้านบาทเรียบร้อยแล้วตามเงื่อนไข หลังจากเอกชนเปิดเดินรถเป็นทางการเต็มรูปแบบ (Full Operation) เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะชำระเท่ากันเป็นเวลา 10 ปี ขณะที่รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เมื่อ EIRR โครงการอยู่ที่ 10 %ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่าจะเป็นปีที่เท่าไร โดยโครงการมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี “

 

*สีชมพูทดสอบระบบแล้ว คาดเปิดต้นปี 67

ผู้ว่าฯรฟม.กล่าวว่า ความคืบหน้า โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ว่า รฟม.เร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อให้เปิดเดินรถเร็วที่สุด แต่ต้องมั่นใจว่างานโยธาต้องเสร็จสมบูรณ์ และงานระบบเดินรถ ผ่านการทดสอบ ตามมาตรฐานเกณฑ์ความปลอดภัย

โดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานสายสีชมพู แจ้งรฟม.เบื้องต้น ว่า พร้อมเปิดเดินรถปลายปี 66 ซึ่งต้องตรวจสอบงานโยธา งานระบบไฟฟ้า และทดสอบเดินรถจนมั่นใจเรื่องความปลอดภัย 100% และวิศวกรอิสระ (ICE) ให้การรับรอง จึงจะให้เปิดเดินรถทางการได้ คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 67 ทั้งนี้ หากเอกชนสามารถเร่งรัดการก่อสร้างและทดสอบระบบจนผ่านเกณฑ์ประเมินความปลอดภัยอาจจะเปิดได้เร็วขึ้นได้

“เอกชนอยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดของงานสถาปัตยกรรมและเตรียมความพร้อมของงานระบบไฟฟ้าในแต่ละสถานี และมีการทดสอบระบบรวมช่วงสุดท้าย และเริ่มทดสอบเสมือนจริง ช่วงแรกแล้ว ส่วน การให้ประชาชนร่วมทดสอบระบบ อยู่ในขั้นตอนการทดสอบเสมือนจริงช่วงสุดท้าย ซึ่งที่ปรึกษา ต้องประเมินอีกครั้งว่าเป็นเมื่อใด”

นายภคพงษ์กล่าวว่า ล่าสุดมีการขยายสัญญาโยธา สายสีชมพู ไปถึงมิ.ย. 67 ใช้สิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ยังมีงานของสถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ(PK13) ที่ต้องรอ กฟน. เดินสายไฟฟ้าใต้ดินเสร็จก่อน ล่าสุดได้ตัดเปลี่ยนย้ายวงจรการจ่ายไฟฟ้าไปใช้ระบบสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเตรียมรื้อสายไฟฟ้าด้านบน ทางผู้รับเหมาสายสีชมพู จะเข้าพื้นที่ เพื่อก่อสร้างบันไดทางขึ้น-ลง สถานี ทั้งบันไดเดินเท้า บันไดเลื่อน ลิฟต์

กรณีทางขึ้น-ลง 3 สถานี ยังไม่เสร็จ แต่ภาพรวม การทดสอบระบบเดินรถทั้งหมด มีความปลอดภัย แล้วเอกชนสามารถเปิดเดินรถให้บริการเป็นบางช่วง และ เก็บค่าโดยสารได้ โดยสายสีชมพู จะได้รับจ่ายเงินสนับสนุนค่างานโยธา 2,250 ล้านบาท/ปี โดยรฟม.จะเริ่มจ่ายเมื่อ เปิดบริการครบทุกสถานีเต็มรูปแบบ (Full Operation) แล้วโดยตั้ง งบประมาณ ในปี 67

อนึ่ง บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ในผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งในบริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน สายสีเหลือง และ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานสายสีชมพู

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top