ภาคธุรกิจ เร่งจัดทัพรับท่องเที่ยวฟื้น

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในหัวข้อ “ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก เคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยคาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 25-30 ล้านคน ซึ่งในปัจจุบันแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของทุกตลาดจะยังกลับมาไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด แต่ในส่วนของตลาดหลักก็สามารถกลับมาได้แล้ว 60-70% โดยนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด คือ มาเลเซีย รองลงมา คือ จีน, เกาหลีใต้, อินเดีย และรัสเซีย

ทั้งนี้เห็นว่าเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งให้การส่งเสริม แต่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และต้องทำอย่างตั้งใจให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่น การลดคาร์บอน, การจัดการขยะ, การจัดการน้ำ รวมทั้งการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันค่อนข้างมีความคาดหวังต่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

 

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ประเมินสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทย ว่า จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบการท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวและปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเราพยายามรีบูตให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้แล้ว 70% จากที่เคยทำได้เมื่อปี 62

ทั้งนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่หายไป คือ จีน ซึ่งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ออกมาตรการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาได้ ด้วยการออกนโยบายวีซ่าฟรี และส่งผลให้ยอดจองผู้โดยสารในช่วงก.ย. -พ.ย. เพิ่มขึ้น จาก 3.5 แสนคน เป็น 6 แสนคน ซึ่งเห็นได้ชัดว่านักท่องเที่ยวจีนให้ความสำคัญ ประกอบกับเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่ยังไม่ตัดสินใจ ก็หันมาเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น

รวมถึงสนามบินที่ภูเก็ต จำนวนผู้โดยสาร จาก 6-7 หมื่นคน เพิ่มเป็น 1.5 แสนคน และ ทอท. พยายามหามาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ การเช็คอิน การอำนวยการตรวจคนเข้าเมืองให้คนเดินทางได้สะดวกขึ้น และประสานกับทุกหน่วยงานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงเวลานี้ เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานไทย เตรียมความพร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ทั้งระบบจดจำใบหน้าผู้โดยสาร มีการติดตั้งระบบ Check-in ได้ด้วยตนเอง ระบบขนส่งผู้โดยสารไร้คนขับ ระบบขนส่งกระเป๋า เพื่อลดเวลาของผู้โดยสาร รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ระยะที่ 2 มีการเพิ่มหลุมจอดมากขึ้น เดินทางที่สุวรรณภูมิในไฟล์อินเตอร์ไม่มีบัสเกตอีกต่อไป และพยายามปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับความต้องการในการเดินทาง ทั้งการสร้างส่วนต่อขยายและรันเวย์ 3 รวมถึงพัฒนาสนามบินดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต เพื่อการเดินทางสะดวกและปลอดภัย

นายกีรติ กล่าวถึง ความยั่งยืนด้านพลังงานและธุรกิจ ในส่วนของท่าอากาศยานไทย เราจะบริหารจัดการ Net Zero โดยประกาศว่า ภายใน 4 ปี ไฟฟ้าในสนามบินจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงรถให้บริการในสนามบินต้องเป็นรถไฟฟ้า และมาจากพลังงานแสงอาทิตย์เช่นกัน

 

ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย และอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้จำนวนผู้โดยสารรวมของทุกสายการบิน คาดว่าจะอยู่ที่ 80-85% ของช่วงก่อนโควิด แต่จำนวนเครื่องบินที่ใช้ จะน้อยกว่าช่วงปี 62 หรือช่วงก่อนโควิดประมาณ 15-20% ซึ่งจะเห็นว่ามีการขนส่งผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด เนื่องจากประเทศที่มีความต้องการท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเกาหลี และญี่ปุ่น และคาดว่าในปี 67 จะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้เท่ากับปี 62 หรืออาจจะได้มากกว่า 10-15%

“ช่วงต้นปีที่เริ่มเปิดประเทศ พบว่านักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นอีกตลาดที่ดี ซึ่งแต่ละสายการบินได้เพิ่มเที่ยวบินไปยังอินเดียมากขึ้น ขณะที่ในช่วงกลางปีนักท่องเที่ยวจากยุโรป ยุโรปตะวันออก เกาหลีใต้ และรัสเซียเริ่มเข้ามา ดังนั้นในภาพรวมเชื่อว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดในปีหน้า” นายธรรศพลฐ์ระบุ

สำหรับจำนวนเครื่องบินที่ยังใช้ได้น้อยกว่าช่วงก่อนโควิด เป็นเพราะหลังจากที่หยุดบินไปราว 3 ปีในช่วงโควิดนั้น ทำให้ต้องมีการซ่อมบำรุงเครื่องบิน โดยขณะนี้ยังมีเครื่องบินที่จอดรอการซ่อมบำรุงอีกราว 20-30% แต่หลังจากนั้น คาดว่าประมาณปลายปี 68 ความจุของผู้โดยสารจะกลับมาได้เต็มที่ ที่ราว 40 ล้านคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top