Power of The Act: สัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือน (Virtual Power Purchase Agreement)

ผู้เขียนได้ตั้งคำถามเอาไว้ใน EP ก่อนว่าหากมีการ “ซื้อ” ไฟฟ้าจากผู้ขายไฟฟ้าแต่ผู้ซื้อจะ “ใช้” ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งอาจมิใช่ไฟฟ้าที่ผู้ขายส่งมอบให้แล้ว ผู้ซื้อไฟฟ้าดังกล่าวจะยังสามารถนับเอาพลังงานไฟฟ้าที่ซื้อดังกล่าวมาเพื่อคำนวณเป็นส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการใช้พลังงานของตนได้หรือไม่

เมื่อผู้ซื้อไฟฟ้าจ่ายเงินไปเพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่ถูกผลิตขึ้นที่อื่น แต่ใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งมีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลปะปนอยู่ด้วย คำถามคือผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะใดให้ผู้ซื้อยังคงสามารถพูดได้ว่าตนใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่ผู้ขายไฟฟ้าที่แม้จะไม่ได้ส่งมอบไฟฟ้าที่ตนผลิตให้กับผู้ซื้อโดยตรงก็ยังสามารถมีรายรับจากการขายไฟฟ้าสะอาดซึ่งอาจมีราคาสูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปได้

ผู้เขียนเห็นว่าผู้ซื้อและผู้ขายดังกล่าวสามารถสัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือน (Virtual Power Purchase Agreement) เพื่อบรรลุถึงความประสงค์ดังกล่าวได้

*คู่สัญญาและวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญา

สัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทำให้ผู้ซื้อสามารถกล่าวได้ว่าตนใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน โดย Edison Energy ได้ให้ความหมายของสัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนเอาไว้ว่าเป็นสัญญาระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้า (เช่น ผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบสินเชื่อโครงการ (project finance) จากสถาบันการเงิน) กับผู้ซื้อไฟฟ้า (เช่น โรงงานผลิตหรือสถานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่) ซึ่งมิได้มีการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ณ สถานประกอบการ

ผู้ขายจ่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่าย เช่น ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในจังหวัดหนึ่งและจ่ายไฟฟ้านั้นเข้าระบบส่งหรือหรือจำหน่ายไฟฟ้าของผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่าย โดยผู้ขายไฟฟ้าไม่ได้เป็นเจ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นเอง ในขณะที่ผู้ซื้อตกลงว่าจะ “ซื้อ” ไฟฟ้าจากผู้ขายไฟฟ้าข้างต้น แต่จะ “ใช้” ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายของผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่าย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายตามปกติ เช่น หากใช้ไฟฟ้าจากการเชื่อมต่อจากระบบจำนหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายก็ยังคงใช้ไฟฟ้าและจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเช่นเดิม

*ซื้อขายอะไร

ตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ผู้ซื้อไฟฟ้า “ใช้” นั้นไม่ใช่ไฟฟ้าหน่วยที่ผู้ขายผลิตและจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่าย หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ซื้อไม่ได้มีหน้าที่ต้องรับมอบ “physical electrons” ซึ่งผู้ขายได้ผลิตขึ้น แต่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอยู่แล้ว ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระค่าตอบแทนให้กับผู้ขายเพื่อตอบแทนการผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายพลังงาน โดยมีข้อสังเกตว่าพลังงานไฟฟ้าที่ถูกผลิตขึ้นและจ่ายเข้าระบบโครงข่ายตามสัญญานั้นอาจถูกใช้โดยผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นมิใช่ผู้ซื้อ (ไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อ) ในขณะที่ผู้ซื้อก็อาจจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายอื่นซึ่งจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่าย

จากลักษณะของการซื้อขายข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าวัตถุแห่งหนี้ของสัญญาในฝั่งของผู้ขายคือ “การกระทำการ” มิใช่ “การส่งมอบทรัพย์สิน” คำว่า “กระทำการ” ในบริบทนี้คือการผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดมากขึ้น (ผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายสามารถลดการรับเอาไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ เพราะมีไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนถูกจ่ายเข้ามาในระบบโครงข่าย) ผู้ขายไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบ physical electrons ที่ผลิตได้ให้แก่ผู้ซื้อ กรณีจะแตกต่างจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากระบบผลิตที่ติดตั้ง ณ สถานที่ของผู้ซื้อเองซึ่งผู้ซื้อจะรับการส่งไฟฟ้าที่ผลิตขึ้น ณ สถานที่ตั้งของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยผู้ขาย (onsite power purchase agreement)

เราสามารถเทียบการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าแบบเสมือนได้กับการ “กดเงินจากตู้กดเงินสดอัตโนมัติ” หรือ “การใช้เงินจากบัญชีเงินฝากออนไลน์” เราอาจจะฝากเงินสดในตู้รับฝากเงินตู้หนึ่ง หรือรับโอนเงินที่ผู้โอนทำการโอนผ่านระบบการชำระเงินออนไลน์ เงินสดที่ถูกฝากนั้นย่อมปะปนกับธนบัตรของผู้ฝากเงินอื่น

ในขณะที่การรับโอนเงินแบบออนไลน์นั้นจำนวนของเงินรับโอนที่เราได้นั้นถูกพิสูจน์ได้จาก “ตัวเลข” เงินในบัญชีที่เพิ่มขึ้นโดยที่เราไม่ต้องจับเงินในทางกายภาพ เมื่อเราประสงค์จะใช้เงินเราสามารถกดเงินสดจากตู้กิดเงินสดอัตโนมัติซึ่งตั้งอยู่ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งมิใช่สถานที่ที่เงินสดถูกฝาก และเราอาจใช้ตัวเลขเงินในบัญชีผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ต้องจับเงินที่ถูกโอนทางกายภาพ

*การคิดราคา

โดยปกติแล้ว การซื้อขายจะมีการคิดราคาของทรัพย์สินที่เป็นวัตถุของสัญญาซื้อขาย ในกรณีของ onsite power purchase agreement นั้น ผู้ซื้อไฟฟ้าจ่ายเงินเพื่อตอบแทน physical electrons ที่ผลิตขึ้นโดยระบบผลิต ณ สถานที่ของผู้ซื้อเอง กล่าวคือ จ่ายเงินเพื่อแลกกับกรรมสิทธิ์ของพลังงานไฟฟ้าที่ตนซื้อและรับการส่งมอบเพื่อใช้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนนั้นใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยมิได้รับการส่งมอบ physical electrons จากผู้ขายโดยตรง คำถามจึงเกิดขึ้นว่าแล้วผู้ซื้อจะจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ขายอย่างไร

ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงกันให้ราคาที่ผู้ซื้อจะจ่ายนั้นเป็นราคาที่คิดจากความต่างของราคาไฟฟ้าในระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับราคาที่สัญญากำหนดขึ้น เช่น กำหนดว่าราคาของพลังงานไฟฟ้าที่ซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนนี้มีราคา 10 บาทต่อไฟฟ้าหนึ่งหน่วย (ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “strike price”) หาก strike price มีราคาต่ำกว่าราคาพลังงานไฟฟ้าในตลาด เช่น หากไฟฟ้าในตลาดนั้นมีราคา 12 บาทต่อไฟฟ้าหนึ่งหน่วยแล้ว [strike price < market price] ผู้ขายไฟฟ้าจะให้ส่วนลด (rebate) แก่ผู้ซื้อ กรณีนี้ผู้ขายสามารถขายไฟฟ้าในราคา 12 บาทต่อหน่วยและนำเอาส่วนต่าง 2 บาทมีชดเชยคืนให้กับผู้ซื้อ

แต่หากปรากฏว่า strike price มีราคาสูงกว่าราคาพลังงานไฟฟ้าในตลาด เช่น ราคาพลังงานไฟฟ้าในตลาดมีราคา 8 บาทต่อไฟฟ้าหนึ่งหน่วย [strike price > market price] กรณีนี้ผู้ซื้อไฟฟ้ามีหน้าที่ต้องชำระส่วนต่าง 2 บาทให้กับผู้ขาย กล่าวคือ ผู้ขายจะได้รับการชดเชยสิ่งที่ตนเองปฏิบัติการชำระหนี้ (คือจ่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยกรพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่าย) คือผู้ขายทำให้ไฟฟ้าสะอาดถูกจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่าย และขายไฟฟ้าดังกล่าวในราคา 8 บาทต่อหนึ่งหน่วยให้กับผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่าย และได้รับเงินเพิ่มอีก 2 บาทจากการทำให้มีไฟฟ้าสะอาดถูกจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า

การรับรองสิทธิของผู้ขายที่จะได้รับการชำระส่วนต่างนี้ แสดงให้เห็นว่าสัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนนั้นมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายส่วนต่าง (contract for difference หรือ “CFD”) และมีลักษณะเป็นการทำธุรกรรมทางการเงินโดยแท้ (purely financial transaction) ผู้ขายสามารถการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวน (hedging) ของราคาพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขายมีความมั่นใจว่าจะมีเงินไหลเข้ามาจากการผลิตและจ่ายไฟฟ้า และมีส่วนช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะให้สินเชื่อโครงการแก่ผู้ขาย (bankability) สัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนจึงอาจถูกเรียกว่าเป็น “Financial Power Purchase Agreement” อีกด้วย

*จะกล่าวได้อย่างไรว่าผู้ซื้อ “ใช้” ไฟฟ้าสะอาดทั้งที่ไม่ได้รับการส่งมอบ physical electrons

ผู้ซื้อซึ่งจ่ายราคาไฟฟ้าที่ตกลง (Strike Price) เพื่อประกันรายได้ของโครงการอาจจะจ่ายค่าไฟฟ้า “แพงกว่า” ราคาไฟฟ้าทั่วไป เช่น หากซื้อไฟฟ้าทั่วไปจากระบบโครงข่ายจะจ่ายเงินเพียง 8 บาทต่อไฟฟ้าหนึ่งหน่วยแต่เมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนด้วยแล้วจะมีหน้าที่ต้องจ่ายส่วนต่างอีก 2 บาทให้กับผู้ขายอีกด้วย การจ่ายที่แพงขึ้นนี้ควรจะทำให้ผู้ซื้อสามารถกล่าวได้ว่าตนเองใช้ไฟฟ้าสะอาด การซื้อไฟฟ้านี้ควรจะถูกนับเป็นส่วนลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานได้ (Scope 2 Emissions)

เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ซื้อ สัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนจะกำหนดให้ผู้ขายส่งมอบเอกสารรับรองแหล่งผลิตไฟฟ้า (Purchase of Guarantee of Origin) จากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน เช่น ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ “REC”) เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถนำเอาเอกสารดังกล่าวไปใช้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้า โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเสมือนสามารถกำหนดหน้าที่ให้ผู้ขายดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ได้รับ REC จากองค์กรที่มีสิทธิในการออก REC โดยถือเป็นหน้าที่ประการสำคัญในสัญญาซื้อขายได้

โดยสรุป สัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนนั้นมีสารัตถะแตกต่างไปจากสัญญาซื้อไฟฟ้าทั่วไปตรงที่สัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือนนั้นไม่มีการส่งมอบไฟฟ้า (physical electrons) จากผู้ขายให้กับผู้ซื้อ แต่ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนต่างของราคาในกรณีที่ราคาซื้อขายที่กำหนดนั้นมีราคาสูงค่าไฟฟ้าในตลาด

การจ่ายเงินนี้จะช่วยป้องกันความผันผวนของราคาและช่วยให้โครงการมีรายรับที่แน่นอนขึ้นอันจะช่วยให้การให้สินเชื่อโครงการโดยสถานบันการเงินเป็นไปได้มากขึ้น ทรัพย์สินที่ผู้ซื้อจะได้รับการส่งมอบตามสัญญามิใช่พลังงานไฟฟ้าแต่เป็นเอกสารรับรองแหล่งผลิตไฟฟ้าซึ่งสามารถถูกนับเป็นส่วนลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานได้ (Scope 2 Emissions) ได้

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top