“ระเฑียร” ส่งไม้ต่อผู้บริหาร KTC รุ่นใหม่ วางเป้าทำกำไรโตต่อเนื่องด้วย 3 ธุรกิจหลัก

ซีอีโอ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ส่งต่อทีมผู้บริหารรุ่นใหม่สานต่อทิศทางธุรกิจ เน้นทำกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยการเติบโตของ3 ธุรกิจหลัก สินเชื่อธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” โดยตั้งเป้าปี 67 มีสมาชิกบัตรเครดิตใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) เติบโต 15% จากปี 66 ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลวางเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย ส่วนสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 67 ที่ 6 พันล้านบาท โดยปีหน้ามีแผนจะระดมเงินกู้ยืมระยะยาวราว 1.3 หมื่นล้านบาท หนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อและหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดราว 1.18 หมื่นล้านบาท

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวว่า ในปี 67 การเดินทางของเคทีซีจะเริ่มต้นอีกครั้งพร้อมสานต่อเรื่องราวดีๆ ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องโดยทีมบริหารรุ่นใหม่ เริ่มตั้งแต่เคทีซีจะมีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่ คือ นางพิทยา วรปัญญาสกุล ซึ่งร่วมงานกับเคทีซีมายาวนานถึง 26 ปี และจะเริ่มบทบาท CEO ใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. 67 รวมทั้งทีมผู้บริหารระดับสูงในสายงานต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นคนที่ร่วมงานกับเคทีซีมายาวนาน มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงในงาน เข้าใจในวัฒนธรรมองค์กร ที่สำคัญมีดีเอ็นเอของความเป็นเคทีซีอยู่เต็มเปี่ยม จึงทำให้มั่นใจได้ว่าทีมบริหารชุดใหม่นี้ จะสามารถส่งต่อและสานต่อหน้าที่และภารกิจสำคัญของเคทีซีให้สำเร็จได้อย่างราบรื่นต่อเนื่อง

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานการตลาดและสื่อสารองค์กร KTC ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ KTC กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 67 จะสานต่อวิสัยทัศน์และความสำเร็จที่ผ่านมา เพื่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยจะทำธุรกิจให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส มีธรรมาภิบาล

โดย KTC ยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อทั้ง 3 ธุรกิจ คือธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพราะเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคที่ต้องการสินเชื่ออยู่อีกมาก โดยเคทีซีจะเน้นขยายฐานสมาชิกไปยังผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกินความจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซีซึ่งมีการเติบโตที่ดีมาตลอดปี 66 เชื่อมั่นว่ายังสามารถที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ต่อไป สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลจะยังเติบโตได้จากฐานลูกค้าใหม่และพอร์ตปัจจุบัน ซึ่งเป็นพอร์ตที่นับว่ามีคุณภาพ

ส่วนของสินเชื่อ “เคทีซีพี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เป็นผลิตภัณฑ์ที่เคทีซีเห็นศักยภาพที่จะเติบโตได้มากในปี 67 จากความร่วมมือในการขยายฐานสมาชิกกับธนาคารกรุงไทย (KTB) ส่วนธุรกิจ MAAI by KTC (มาย บายเคทีซี) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management-CRM) และแพลตฟอร์มลอยัลตี้แบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (Loyalty Platform) ที่บริษัทบ่มเพาะมาระยะหนึ่ง ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่บริษัทมุ่งจะสร้างการเติบโตในปีหน้า

“การนำพาธุรกิจเคทีซีต่อจากนี้จะตั้งอยู่บน 3 องค์ประกอบคือ คน-กระบวนการ-เทคโนโลยี เริ่มจาก คน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่เราดูแลและให้ความสำคัญมาตลอด ในปีหน้าจะมุ่งพัฒนาและส่งเสริมความเป็นผู้นำของผู้บริหารรุ่นใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาผู้บริหารระดับกลาง โดยเน้นการสร้างความเป็นผู้นำเพื่อจะร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยจะให้ความสำคัญกับการออกแบบและปรับกระบวนการทำงานให้กระชับรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยยึดสมาชิกเป็นศูนย์กลาง มีความเข้าใจความต้องการของสมาชิกและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อทำการตลาด พร้อมทั้งปรับปรุง” นางพิทยา กล่าว

สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของเคทีซี ในส่วนเรื่องเทคโนโลยี KTC ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานคลาวด์ (Cloud Computing) ในโครงสร้างระบบทางด้านไอที รวมถึงการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งจะมีการใช้งานมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลดีในเรื่องความปลอดภัย ความเสถียร ยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในด้านต้นทุนการดำเนินงานและคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ เคทีซียังเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเพิ่มศักยภาพขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีการที่ปัจจุบันเคทีซีได้ใช้ AI อยู่แล้วให้ใช้งานได้ดีขึ้น หรือการเริ่มศึกษาทดลองและใช้ Generative AI ในกระบวนการทำงานต่างๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อสมาชิก หรือเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ

*ปักหมุดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 67 โต 15%

นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต กล่าวว่า สำหรับแผนธุรกิจบัตรเครดิต KTC ตั้งเป้าปี 67 มีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) เติบโต 15% จากปี 66 โดยในปี 67 จะเป็นปีที่เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสำหรับสมาชิกในทุกขั้นตอนของการใช้บริการบัตรเครดิตเคทีซี ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “KTC Mobile” ต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกทำธุรกรรมต่างๆ เองได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย

ขณะเดียวกันยังต่อยอดผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต “เคทีซี ดิจิทัล” (KTC DIGITAL CREDIT CARD) ให้ตอบโจทย์การใช้งานออนไลน์มากขึ้น ด้วยการพัฒนาช่องทางสมัครบัตรออนไลน์ E-Application เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนออนไลน์ ให้สามารถสมัครได้สะดวกด้วยตนเองและยังปลอดภัยเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล โดยการบริหารพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิตจะทำงานแบบเชิงรุก เพื่อให้สมาชิกมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และเป็นพอร์ตลูกค้าที่มีคุณภาพ

โดยใช้ระบบมาร์เก็ตติ้งออโตเมชัน (Marketing Automation) เป็นเครื่องมือการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าแบบเซ็กเมนท์ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ดี เรายังคงเน้นทำการตลาดในกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมของเราเติบโตได้ดี

อีกทั้งจะเดินหน้าสร้างคุณค่าร่วม (Co-creating value) กับพันธมิตรหลากหลายธุรกิจ ทั่วประเทศกว่า 2 พันราย เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกบัตร และหาโอกาสใหม่ๆ ในการต่อยอดธุรกิจด้วยกันในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยมีคะแนน KTC FOREVER เป็นฟีเจอร์หลักในการให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้า

*เป้าสินเชื่อบุคคลปี 67 โต 5%

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล กล่าวว่า สินเชื่อส่วนบุคคลยังเป็นธุรกิจที่เราเน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยในปี 67 ตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย ด้วยแผนกลยุทธ์หลัก 2 เรื่อง คือ 1. สรรหาสมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพ เน้นการรับสมัครผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application เพื่อให้สมาชิกทำรายการได้ด้วยตนเอง และรู้ผลอนุมัติแบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีทันที ขณะเดียวกันยังพัฒนากระบวนการรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของเคทีซีและของพาร์ทเนอร์

2. สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บัตรกดเงินสดให้กับสมาชิก “เคทีซี พราว” กว่า 700,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นการ “รูด โอน กด ผ่อน” โดยจะเพิ่มฟังก์ชันการเบิกถอนและใช้วงเงินผ่านแอปฯ “KTC Mobile” ให้รองรับการโอนเงินไปยังบัญชีพร้อมเพย์ เพิ่มเติมจากการโอนเงินเข้าบัญชีได้หลากหลายธนาคารในปัจจุบัน รวมทั้งจะยังคงจัดแคมเปญ “เคลียร์หนี้เกลี้ยง” ที่โดนใจสมาชิกมาตลอด 10 กว่าปี เพื่อส่งเสริมและตอบแทนให้ผู้ที่ใช้สินเชื่ออย่างมีวินัย ได้รับสิทธิ์ลุ้นเคลียร์หนี้กับเคทีซี

*วางเป้ายอดสินเชื่อพี่เบิ้มปี 67 ที่ 6 พันลบ.

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อรถยนต์ ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” กล่าวว่า บริษัทยังคงเน้นการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 67 ที่ 6 พันล้านบาท ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1. เน้นสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้วยคอนเทนต์ที่เน้นความบันเทิง เข้าถึงง่ายผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียล มีเดีย เสริมด้วยโฆษณาออฟไลน์ และสื่อตามพื้นที่สาขาของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ

2. ผนึกกำลังกับธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้า ผ่านสาขาธนาคารกว่า 900 แห่งเป็นหลัก เสริมด้วยแพลทฟอร์มออนไลน์ของธนาคาร อย่าง NEXT ถุงเงินและเป๋าตัง โดย “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเดียวของธนาคารกรุงไทย ที่สามารถทำรายการอนุมัติได้แบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินทันที

3. ตอกย้ำและเสริมความแกร่งให้กับจุดแข็งผลิตภัณฑ์ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ในฐานะผู้บริการรายเดียวที่ให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที และยังขยายฐานไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ เคทีซี พี่เบิ้ม”พร้อมบัตรกดเงินสด เคทีซี พี่เบิ้ม อีกด้วย

*ธุรกิจ MAAI ขยายพันธมิตรธุรกิจกลาง-ใหญ่กว่า 20 ราย

นางสาวอุษณีย์ เลาหะวรนันท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานสื่อสารการตลาดและธุรกิจ MAAI กล่าวว่า แผนงานของMAAI by KTCในปี 67 มีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก MAAI ประมาณ 2 ล้านราย โดยพันธมิตรเป้าหมายของแพลตฟอร์ม MAAI จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เน้นสร้างความถี่ในการกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำแพลตฟอร์ม MAAI ยังมีการนำเสนอโมเดลการให้บริการที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยพันธมิตรร้านค้าบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยจะพัฒนาเชิงกลยุทธ์ใน 3 เรื่องหลักคือ 1. ต่อยอดการพัฒนาแพลทฟอร์ม ฟีเจอร์หรือฟังก์ชันใหม่ๆตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่2.เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับประสบการณ์การใช้งานแอปฯMAAI by KTCให้ง่าย สะดวกและดียิ่งขึ้น3.ขยายร้านค้ารับแลกคะแนนMAAIให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์และความต้องการของสมาชิกMAAI by KTCมีจุดรับแลกคะแนนที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงทุกธุรกิจ และมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ(Ecosystem)ที่แข็งแรง ให้พันธมิตรสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

*ปี 67 เตรียมกู้เงิน 1.3 หมื่นลบ.รองรับขยายพอร์ตสินเชื่อ

นางรจนา อุษยาพร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายบัญชีการเงิน และรักษาการผู้บริหารสูงสุดสายงานการเงิน KTC กล่าวว่า ในส่วนของการบริหารต้นทุนทางการเงิน ในปี 67 เคทีซีจะยังคงรักษาระดับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีแผนจะระดมเงินกู้ยืมระยะยาวราว 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ 20:80 และต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ราว 3.1% สูงขึ้นจากสิ้นปี 66 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top