โพลส.อ.ท.ห่วงงบ 67 ล่าช้ากระทบแผนกระตุ้นศก. แนะรัฐใช้งบพัฒนาโครงสร้างปท.แบบมุ่งเป้า

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 34 ในเดือนต.ค. 66 ภายใต้หัวข้อ “เรื่องใดที่ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นในแผนการใช้งบประมาณปี 2567” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลต่อผลกระทบของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่ล่าช้า และอาจส่งผลกระทบต่อการนำงบประมาณไปดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวแล้ว จากการประเมินของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า GDP ไตรมาสที่ 2/66 ที่ผ่านมา ขยายตัวเพียง 1.8% ชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสที่ 1/66 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาและเงื่อนไขต่างๆ อาจทำให้การจัดสรรงบประมาณ ไม่สามารถตอบโจทย์ในการลงทุนสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวได้

จากผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่คาดหวังให้รัฐบาลให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณใช้จ่ายที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว อาทิ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมแบบมุ่งเป้าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งการลงทุนด้านการจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง และอุทกภัยในระยะยาว ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต

เมื่อถามถึงสิ่งที่ภาครัฐควรปรับการจัดทำงบประมาณ และการใช้จ่ายงบประมาณในระยะยาว พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. แนะนำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบูรณาการวางแผนงบประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน มีการพัฒนาและนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการติดตามวัดผลประสิทธิภาพของการใช้จ่ายงบประมาณ ควบคู่กับการเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น รวมถึงเร่งพัฒนากลไกการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ เช่น ปรับโครงสร้างภาษี, สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้ามาในระบบภาษี (E-Tax Invoice, E-Withholding TAX) เป็นต้น

สำหรับการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 243 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 34 ดังนี้

1. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าในเรื่องใด (Multiple choices)

อันดับที่ 1 ความล่าช้าในการนำงบประมาณมาดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 63.4%

อันดับที่ 2 การจัดสรรงบประมาณไม่ได้ตอบโจทย์ในการลงทุนสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว 56.8%

อันดับที่ 3 การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ จะไปเร่งและกระจุกตัวอยู่ในช่วงไตรมาส 3-4 และส่งผลให้เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกหดตัว 46.5%

อันดับที่ 4 โครงการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐ ต้องหยุดชะงักหรือชะลอออกไป 44.4%

2. รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณใช้จ่ายในเรื่องใด เพื่อให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)

อันดับที่ 1 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม แบบมุ่งเป้า 63.0%

อันดับที่ 2 ลงทุนด้านการจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้งและอุทกภัยในระยะยาว 52.7%

อันดับที่ 3 ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค 51.9%

อันดับที่ 4 พัฒนาระบบการศึกษาและบุคลากรรับรองความต้องการในอนาคต และยกระดับระบบสวัสดิการแรงงาน 48.6%

3. ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างไร (Multiple choices)

อันดับที่ 1 มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับ SME เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น 71.6%

อันดับที่ 2 จัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตสำหรับ SME ในการใช้ระบบ Automation & Robotics และส่งเสริมการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 53.9%

อันดับที่ 3 ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการซื้อสินค้าจาก SME ให้เพิ่มขึ้น จาก 41% เป็น 50% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างฯ ในแต่ละปี 51.4%

อันดับที่ 4 เพิ่มวงเงินการส่งเสริมให้ SME ค้าขายระหว่างประเทศผ่านโครงการ SME Pro Active 40.7%

4. ภาครัฐควรปรับการทำงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณในระยะยาวเรื่องใด (Multiple choices)

อันดับที่ 1 บูรณาการวางแผนงบประมาณเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน 68.7%

อันดับที่ 2 นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการติดตามวัดผลประสิทธิภาพของการใช้จ่ายงบประมาณ และเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น 62.6%

อันดับที่ 3 พัฒนากลไกการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ เช่น ปรับโครงสร้างภาษี, สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้ามาในระบบภาษี เป็นต้น 56.4%

อันดับที่ 4 วางแผนในการลดความเสี่ยงจากภาระผูกพันงบประมาณ และให้ Outsource งานให้เอกชนดำเนินการ 38.3%

5. หน่วยงานใดควรได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว (Multiple choices)

อันดับที่ 1 กระทรวงอุตสาหกรรม 68.3%

อันดับที่ 2 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 51.0%

อันดับที่ 3 กระทรวงพาณิชย์ 42.8%

อันดับที่ 4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 41.6%

อันดับที่ 5 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 36.6%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top