ZoomIn: จับตาหุ้นกู้อสังหาปีหน้าเสี่ยง Rollover ยาก-รุ่นใหม่ขายไม่ง่าย

หุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ส่อจะเกิดปัญหาอย่างหนักในปีหน้า เหตุส่วนใหญ่ต่ำกว่า Investment Grade ให้อัตราดอกเบี้ยสูง แม้ ThaiBMA เชื่อ High Yield Bond ไม่มากแต่ภาพการผิดนัดชำระหนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะนั่นคือความเสี่ยง ฟากโบรกเกอร์จับตาหุ้นกู้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์ครบกำหนดไถ่ถอน การ Rollover จะทำได้ทั้งจำนวนหรือไม่ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่เอื้อ โดยเฉพาะภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ดี และการขายหุ้นกู้ล็อตใหม่อาจจะไม่ง่าย

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่าปี 67 มีหุ้นกู้ระยะยาวจะครบกำหนดไถ่ถอนทั้งสิ้น 8.9 แสนล้านบาท โดย 90% หรือมูลค่า 791,322 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ระดับ Investment Grade มูลค่า 791,322 ล้านบาท และอีก 10% หรือมูลค่า 99,586 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ High Yield โดยหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงเกิดผิดนัดชำระหรือยืดระยะเวลาชำระหนี้มีไม่ถึง 1% หรือประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ของมูลค่าหุ้นกู้คงค้างทั้งหมด คิดเป็น 0.8%

ในกลุ่ม High Yield Bond เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต (Non-rated) 51,397 ล้านบาท, เรทติ้ง BB+ มีจำนวน 30,030 ล้านบาท, เรทติ้ง BB จำนวน 10,730 ล้านบาท, เรทติ้ง BB- จำนวน 5,709 ล้านบาท และ เรทติ้ง B จำนวน 1,730 ล้านบาท

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ในไตรมาส 1/67 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มไฟแนนซ์และอสังหาริมทรัพย์ ต้องติดตามว่าหุ้นกู้เหล่านี้จะ Rollover ได้หรือไม่ โดยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระมีจำนวนมากจะมีผลต่อสภาพคล่องในระบบลดลง และมีความกังวลว่าหุ้นกู้ที่ออกมาใหม่มีโอกาสสูงที่จะขายไม่หมด หรือไม่ครบตามเป้า แม้จะไม่ได้ถือว่าเลวร้ายมาก แต่ก็จะเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อตลาดหุ้น

แหล่งข่าวจากวงการการเงิน กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นกู้ปี 67 ยังคงต้องลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะโอกาสการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีมากน้อยอย่างไร

แต่จากบทเรียนในปี 66 ที่มีกรณีผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เอกชน ทำให้หลายๆ บริษัทพยายามวางแผนหาเงินมาไว้รองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด และหากดูสภาวะตลาดหุ้นกู้ในปัจจุบันการที่จะ Rollover ค่อนข้างเหนื่อย เงินหน้าตักของนักลงทุนลดลง ความเชื่อมั่นก็หายไปด้วย หากมีหุ้นกู้ Rollover ก็ต้องมีอัตราดอกเบี้ยสูงจูงใจเพียงพอ หรืออาจต้องมีสินทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่มเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน

“ณ สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบนี้ ธุรกิจคงจะคิดหนักเหมือนกัน หากต้อง Rollover เศรษฐกิจก็ยังมีความไม่แน่นอน เฟดส่งสัญญาณชัดเจนไม่ขึ้นดอกเบี้ย และจะเริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว แต่เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะไปทางไหน เศรษฐกิจไทยก็ด้วย การกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ยังไม่มา นักท่องเที่ยวจะยังไงต่อ ความเชื่อมั่นภายในประเทศเป็นอีกความเสี่ยงที่ฉุดความเชื่อมั่นหายไป” แหล่งข่าว กล่าว

หุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดในปี 67 มากที่สุดคงเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังเป็นหนึ่งกลุ่มที่มีความน่าเป็นห่วง จากภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้ที่การขายยังเหนื่อย จะเห็นว่ามีการทำแคมเปญโปรโมชั่น และลดราคา เพื่อเน้นการระบายสินค้า อีกทั้งบริษัทที่ทำคอนโดมิเนียมมาก ๆ ยังเผชิญปัญหากลุ่มลูกค้าต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อ และคนไทยเองก็เปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อบ้านแนวราบมากขึ้น

แต่มองว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ไม่น่าเป็นห่วงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มากนัก โดยเฉพาะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีแบ็คอัพ เครือธุรกิจเกษตร ค้าส่ง-ค้าปลีก และเครือข่ายมือถือรายใหญ่ ที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดเป็นจำนวนมาก มองว่าจะหาเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ได้ไม่ยาก เพราะมีสถาบันการเงินให้การสนับสนุนสินเชื่อ

ดังนั้น ประเมินเบื้องต้นว่าภาคเอกชนที่จำเป็นต้องการใช้เงินลงทุนหรือจะต้องนำเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ จะใช้ช่องทางการเงินผ่านสินเชื่อของสถาบันการเงินมากขึ้นในปี 67 และธนาคารต่างๆ ก็มีความพร้อมในการปล่อยสินเชื่อ หลังจากระดมเงินฝากมากขึ้นในปีนี้ และอัตราดอกเบี้ยถือว่าใกล้เคียงกับการออกหุ้นกู้หรืออาจต่ำกว่าเล็กน้อย

แต่ก็อาจจะต้องเจอกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้าง ซึ่งเป็นอุปสรรคของธุรกิจที่หันไปออกหุ้นกู้แทน เพราะธนาคารเองก็ต้องควบคุมคุณภาพหนี้ ทำให้ต้องเข้มงวดในการพิจารณาซึ่งไม่กังวลมากกับบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นลูกค้าของธนาคารต่างๆ แต่กังวลในเรื่องของบริษัทขนาดกลาง-เล็กที่การให้สินเชื่อของธนาคารยังค่อนข้างระมัดระวัง

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระเกิดได้ทุกธุรกิจ ไม่เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ เพราะธุรกิจยังไม่ฟื้น รวมไปถึงผลกระทบจากปัญหาธรรมาภิบาล (CG) อย่างกรณีที่เกิดกับ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ก็มาจากเรื่อง CG อย่างไรก็ดี มองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน และยังสามารถใช้สินเชื่อของธนาคารได้

“สัดส่วนหุ้นกู้ที่มีปัญหาไม่ได้เยอะ แต่หุ้นกู้ High Yield มีรายย่อยเข้ามาถือมากก็เลยเป็นประเด็น ที่ผ่านมาได้มีความพยายามปิดช่องโหว่ ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ออกมาให้ความมั่นใจว่าหลังออกไปแล้วมีความสามารถชำระหนี้”

ThaiBMA ระบุว่า ขณะนี้ทางสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์ฯ ให้ ก.ล.ต.มีอำนาจตรวจสอบมากขึ้น เพื่อยกระดับการกำกับผู้สอบบัญชี บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ การสอบสวนเอาผิดผู้บริหารที่กระทำความผิดเพื่อให้ทำคดีได้รวดเร็วมากขึ้นแทนที่จะรอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอดำเนินการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top