รมช.คลัง นัดถกแบงก์รัฐหาช่องแก้เกมดอกเบี้ยสูง ออกตัวแทนกำไรเยอะก็ต้องส่งเข้าหลวง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า เตรียมจะเรียกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (แบงก์รัฐ) มาหารือ โดยยอมรับว่ากระทรวงการคลังมองเห็นถึงปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นภาระของประชาชน และที่ผ่านมาแบงก์รัฐก็ได้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยมามากพอสมควร และกระทรวงการคลังเองก็ได้มีการสั่งการไปยังแบงก์รัฐทั้งหมดให้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานและมากที่สุด เพราะรู้ว่าประชาชน เกษตรกร ผู้กู้รายย่อยเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแบงก์รัฐยังมีภารกิจทางสังคมและภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น การพักหนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน อย่าง ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีภาระที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือตามกลไกของรัฐ ทำให้แบงก์รัฐไม่สามารถทำธุรกิจเป็นปกติ 100% ได้ และมาตรการแก้หนี้ส่วนหนึ่งก็อาจไหลเข้ามาอยู่กับแบงก์รัฐที่จะต้องเข้าไปรับไว้ ให้ความช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ซึ่งหนี้เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ขณะที่แบงก์รัฐก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้ง

“ส่วนที่ว่าแบงก์รัฐบางแห่งจะมีกำไรเยอะ ก็คือสถานการณ์เดียวกัน แต่ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแบงก์รัฐพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยมาโดยตลอด และถามว่าแบงก์รัฐจะอยู่ยังไงในตลาดแบบนี้ โดยในช่วงต้นปี ธนาคารออมสินก็ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปเพียง 0.25 สตางค์ ขณะที่ ธ.ก.ส. ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR เท่านั้น แต่ดอกเบี้ยส่วนอื่นก็พยายามตรึงอยู่และตรึงให้ถึงที่สุด ส่วนกำไรที่สูงนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องโยนเม็ดเงินกำไรส่วนหนึ่งกับมาที่รัฐเป็นเงินหลวง เพื่อใช้ทำภารกิจตามนโยบายรัฐบาลต่อไป” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนที่มีการยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเกินไปนั้น ก็อยากให้ย้อนกับไปดูกำไรของธนาคารพาณิชย์ด้วย ท่ามกลางความเดือดร้อนของชาวบ้าน ตรงนี้ความเห็นของรัฐบาลกรณีที่ ธปท.บอกว่ามีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปรอนั้น มองว่า “คำนี้ไม่สมเหตุสมผล”

อย่างไรก็ดี วันนี้ธนาคารออมสินได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) หลังจากตรึงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ในระดับต่ำจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยประกาศดอกเบี้ย MRR จากเดิม 6.995% ลดลงเหลือ 6.845% มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชนในช่วงระยะนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง นับเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดในระบบธนาคาร ณ เวลานี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top