สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรครีพับลิกัน โหวตถอดถอนนายอเลฮานโดร มาญอร์กัส ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ เมื่อวานนี้ (13 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น ผ่านด้วยคะแนนเฉียดฉิวที่ 214 ต่อ 213 เสียง โดยกล่าวหาว่านายมาญอร์กัสปล่อยให้มีการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น และให้การเท็จต่อรัฐสภา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การถอดถอนมุ่งเน้นไปที่ข้อกล่าวหาว่านายมาญอร์กัสไม่บังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองสหรัฐ ส่งผลให้มีผู้อพยพข้ามพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโกเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์
แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติถอดถอนออกมา แต่ไม่น่าเป็นไปได้ที่วุฒิสภาซึ่งเสียงข้างมากเป็นของพรรคเดโมแครต จะลงคะแนนเสียงปลดนายมาญอร์กัสออกจากตำแหน่ง
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รีพับลิกันพยายามจะถอดถอนนายมาญอร์กัสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแต่ไม่สำเร็จ โดยนายสตีฟ สเกอลีส ผู้แทนพรรครีพับลิกัน ไม่ได้มาโหวตด้วยในสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง แต่คราวนี้นายสเกอลีสกลับมาลงคะแนนให้ ถือเป็นคะแนนเสียงสำคัญสำหรับการอนุมัติการถอดถอน
ด้านนายมาญอร์กัสกล่าวว่าเขาไม่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสถานการณ์ชายแดน โดยโทษว่าเป็นเพราะระบบตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐบกพร่อง ซึ่งที่ผ่านมาสภาคองเกรสยังไม่สามารถแก้ไขได้
ด้านกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐเผยแพร่บันทึกเมื่อวานนี้ โดยออกโรงปกป้องการบังคับใช้กฎหมายของที่ชายแดนของนายมาญอร์กัส พร้อมเรียกร้องให้สภาคองเกรสทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองที่ล้าสมัย “แทนที่จะอำนวยความสะดวกให้กับการถอดถอนปาหี่ครั้งนี้”
ทั้งนี้ กรมศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐ (CBP) ระบุเมื่อวานนี้ว่า ผู้อพยพที่ถูกจับกุมจากการข้ามชายแดนทางใต้อย่างผิดกฎหมายมีจำนวนลดลงถึง 50% ในเดือนม.ค. จากระดับสูงในเดือนธ.ค. ซึ่งเกิดจากแนวโน้มตามฤดูกาลและความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้นของสหรัฐและประเทศพันธมิตร
การถอดถอนรอบนี้มีขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่สายแข็งของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาประสบความสำเร็จในการโหวตคว่ำแผนปฏิรูปนโยบายความมั่นคงที่ชายแดน แม้แผนดังกล่าวจะเป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองพรรค และมีนายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเป็นผู้สนับสนุนก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญและแม้แต่คนในพรรครีพับลิกันบางคนวิจารณ์ว่า การถอดถอนครั้งนี้สะท้อนถึง “ความขัดแย้งในเรื่องนโยบาย” มากกว่าจะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยการสอบสวนของสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้แสดงหลักฐานว่านายมาญอร์กัสก่อ “อาชญากรรมและความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรงระดับสูง” อย่างไร จนถึงขั้นเป็นเหตุให้ยื่นถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 67)
Tags: กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ, พรรครีพับลิกัน, รัฐมนตรี, รัฐสภา, สภาผู้แทนราษฎร, สหรัฐ, อพยพ