ฉายแววสดใส! ส่งออก ม.ค.โต 10% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน

กระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศไทยของไทย เดือนม.ค.67 การส่งออก มีมูลค่า 22,649 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงกว่าตลาดคาด 8.8% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,407 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือนม.ค. ไทยขาดดุลการค้า 2,757 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ส่งออกไทยเดือนม.ค. ที่ขยายตัวถึง 10% นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ มิ.ย.65” นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

หากพิจารณาการส่งออกในรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ดังนี้

  • กลุ่มสินค้าเกษตร ในเดือนม.ค.67 ขยายตัว 14% ที่มูลค่า 2,070 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว, ผลไม้สด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ผักสด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ยางพารา, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
  • กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ในเดือนม.ค.67 ขยายตัว 3.8% ที่มูลค่า 1,643 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผักกระป๋องและแปรรูป, สิ่งปรุงรสอาหาร, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, เครื่องดื่ม, อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป
  • กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนม.ค.67 ขยายตัว 10.3% ที่มูลค่า 18,083 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรก ที่ขยายตัวได้ดีในเดือนม.ค.67 ได้แก่ อันดับ 1 ฮ่องกง ขยายตัว 72% อันดับ 2 กลุ่ม CIS ขยายตัว 64.6% อันดับ 3 ทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 27.2% อันดับ 4 อาเซียน (5) ขยายตัว 18.1% อันดับ 5 CLMV ขยายตัว 16.6% อันดับ 6 สหรัฐฯ ขยายตัว 13.7% อันดับ 7 แคนาดา ขยายตัว 11.8% อันดับ 8 ไต้หวัน ขยายตัว 5.3% อันดับ 9 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 5.1% และอันดับ 10 สหภาพยุโรป ขยายตัว 4.5%

นายกีรติ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกเดือนม.ค.67 ขยายตัวดี มาจากภาคการผลิตโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรสำคัญของไทย ได้รับอานิสงส์ด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าของตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามวัฎจักรสินค้า

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญ ได้แก่ ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น หลังจากมีเหตุการณ์โจมตีเรือสินค้าบริเวณทะเลแดง รวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการซื้อ ยังมีความไม่แน่นอน และฟื้นตัวไม่พร้อมกันในแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนได้มีการผลักดันการส่งออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการผลักดันส่งออกสินค้า รายรัฐ หรือรายมณฑล ในตลาดส่งออกใหญ่ที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับประเทศสำคัญ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

แนวโน้มส่งออกสัญญาณดี

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไทยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางการส่งออกของประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย และมาเลเซีย โดยคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ การส่งออกไทยน่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ ขณะที่ทั้งปี 67 กระทรวงพาณิชย์ยังตั้งเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกที่ 1-2%

“ส่งออกไตรมาสแรก มองว่าน่าจะยังเป็นบวก หากไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามาเพิ่มมากกว่านี้ (การสู้รบ และเหตุการณ์ในทะเลแดงไม่ขยายวง) โมเมนตัมมากส่งออกเริ่มกลับมา…ดูจากแนวโน้มแล้ว การส่งออกของหลายประเทศก็เริ่มกลับมา เห็นสัญญาณที่ดี” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

ปัญหาขนส่ง-ค่าระวางผ่อนคลาย

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาติดขัดเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์ได้เริ่มลดลง หลังจากที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ส่งผลให้ค่าระวางเรือจากที่เคยปรับขึ้นไป 4-5 เท่า ลดลงมาเหลือ 2-3 เท่าจากระดับปกติ ซึ่งช่วยผ่อนคลายต้นทุนค่าขนส่งสินค้าลงได้ในระดับหนึ่ง และหากสถานการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ ก็เชื่อว่าปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 เดือนนี้

“ตอนนี้บางสายเรือ ก็ยังไปได้ ทั้ง Cosco, Evergreen และ Maersk ไม่ได้หยุดชะงัก ค่อนข้างสบายใจได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้าเหตุการณ์ในทะเลแดงไม่รุนแรงมากไปกว่านี้ คาดว่าจะเข้าภาวะปกติใน 1-2 เดือน” นายชัยชาญ กล่าว

ส่วนสาเหตุที่ค่าระวางเรือเริ่มปรับลดลง เนื่องจากในช่วงต้นเดือนม.ค. ประเทศจีนต้องเร่งส่งออกในช่วงก่อนตรุษจีนเดือนก.พ. จึงทำให้ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์มีสูงมาก ประกอบกับปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง จึงทำให้ค่าระวางเรือในช่วงนั้นพุ่งขึ้นไป 5-6 เท่าตัว แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ค่าระวางเรือเริ่มลดลงสู่ระดับที่ควรจะเป็น

“ช่วงนั้นจีนเร่งส่งออก จึงต้องการตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมาก demand มากกว่า supply ทำให้ค่าระวางพุ่งไป 5-6 เท่า จากราคาปกติในการส่งสินค้าไปยุโรป ถ้าเป็นตู้สั้น 1,100 ดอลลาร์ พุ่งขึ้นไปถึง 4,000-5,000 ดอลลาร์ แต่ตอนนี้ ลงมาเหลือ 2,500 ดอลลาร์แล้ว” ประธาน สรท.ระบุ

อย่างไรก็ดี ทาง สรท. จะติดตามปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ คือ สถานการณ์ของจีนภายหลังจากเปิดประเทศ และภาคการผลิตหลังผ่านช่วงตรุษจีนไปแล้ว รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ที่ขณะนี้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 83 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.พ. 67)

Tags: , , ,
Back to Top