TPIPP วางงบ 3 ปี 1.5 หมื่นลบ.ขึ้นโรงไฟฟ้าใหม่ พร้อมมุ่งเน้นลดต้นทุนเปลี่ยนใช้เชื้อเพลิงขยะแทนถ่านหิน

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในช่วง 3 ปี (67-69) บริษัทให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน (Cost Saving) จากการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินมาเป็นการใช้เชื้อเพลิงจากขยะให้ได้ทั้งหมดภายในปี 69 โดยจะเห็นได้จากปีก่อนได้ปรับปรุงโรงไฟฟ้า TG7 ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงขยะ ช่วยลดต้นทุนลงไปได้ราว 623 ล้านบาท หาก TG7 และ TG8 สามารถเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงจากขยะได้ทั้งหมดจะทำให้บริษัทประหยัดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน

สำหรับรายได้ในปี 69 อาจไม่ได้เติบโตโดดเด่นมากนัก คาดจะทำได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 67 ที่คาดว่าจะเติบโตแตะ 12,200 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 11,287.76 ล้านบาท แม้ว่ากำลังการผลิตใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็น 563 เมกะวัตต์ โดยหลักจะมาจากโรงไฟฟ้าขยะที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 420 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มเป็น 103 เมกะวัตต์ ขณะที่พลังงานความร้อนทิ้ง จะอยู่ที่ 40 เมกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะลดลงเหลือศูนย์ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการจะลดสัดส่วนรายได้ดังกล่าวลง

ส่วนปีนี้จะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มมาที่ 496 เมกะวัตต์ จากปีก่อนอยู่ที่ 440 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 56 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าจากขยะ เพิ่มเป็น 250 เมกะวัตต์ จากปีก่อนอยู่ที่ 180 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งคงเดิมที่ 40 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินจะลดลงเหลือ 150 เมกะวัตต์ จากปีก่อน 220 เมกะวัตต์

โดยกลยุทธ์การเติบโตในปีนี้ บริษัทฯ มีแผนมุ่งลดราคาการผลิต RDF อย่างน้อย 5-10%, ปรับราคาค่าจำกัดขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะชุมชนที่เข้ามาสู่โรงงาน, การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า หนุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการลดการใช้ถ่านหินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ Operation Cost ในภาพรวมปรับตัวลดลง

บริษัทได้วางงบลงทุนรวมในช่วง 3 ปี (67-69) ไว้ที่ 15,476.44 ล้านบาท รองรับการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงต้นปี 68 และโรงไฟ้าขยะของเทศบาลจังหวัดมุกดาหาร กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและ COD ได้ในช่วงปลายปี 68 ถึงต้นปี 69

นอกจากนี้จะรองรับการลงทุนโรงงานผลิต RDF จำนวน 1 โรง เพื่อรองรับกับความต้องการใช้ RDF ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน (TG8) กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ ,ลงทุนติดตั้งบอยเลอร์ ใช้แทนถ่านหินในโรงไฟฟ้าถ่านหิน TG8 คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในกลางปี 68 เพื่อลดการใช้ถ่านหินและลดต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า, ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดภาระค่าจำกัดขยะ และลงทุนพัฒนาระบบ AI เพื่อใช้ควบคุมการทำงานของบอยเลอร์ต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุน EV Chargers เพื่อใช้ในโรงปูนซีเมนต์ เพิ่มอีก 100 คันในปี 67 และเพิ่มเป็น 500 คันในปี 71 จากปัจจุบันอยู่ที่ 41 คัน ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย

นายภัคพล กล่าวว่า ในปี 67 บริษัทฯ เตรียม COD โครงการ Solar Rooftop กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายเดือนเม.ย.67 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีก 80 เมกะวัตต์ จะทยอย COD ตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.นี้ หรือต้นพ.ค.67 เป็นต้นไป โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าดังกล่าวได้อย่างน้อย 22 ล้านหน่วย

บริษัทฯ ยังมองการเข้าประมูลขายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาจากรีเทิร์น (IRR) และความเสี่ยงว่าเหมาะสมหรือไม่

ด้านแผนปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในปีนี้ จะมีการชัดดาวน์ Turbine รวมไม่เกิน 30 วัน และบอยเลอร์ 15 วัน โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบกับปริมาณการผลิตไฟฟ้า

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top