INTERVIEW: เปิดใจเลขา ก.ล.ต. EP3: เติมเสน่ห์ตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยยังมีเสน่ห์อยู่หรือไม่?! หลายๆ Sector จะยังมีการเติบโตในอนาคตหรือเปล่า? ต้องเติม Sector ไหนที่จะเป็น New S-Curve ของตลาด? จะทำอย่างไรที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามา? มาฟังคำตอบจากนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “อินโฟเควสท์”

หนุนธุรกิจ New S-Curve เข้าตลาด

เลขาฯ ก.ล.ต.ระบุว่า ในเชิงการพัฒนาตลาดทุนไทย การผลักดันของ ก.ล.ต. ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของตลาดทุนไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น สามารถตอบสนองต่อเทรนด์การทำธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดย ก.ล.ต.ได้มอบหมายแนวทางให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางภาพการส่งเสริมให้ชัดเจน รวมถึงรัฐบาลเองก็ต้องมีความชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมสิ่งใด เพื่อให้การทำงานสอดคล้องไปด้วยกันในการทำให้ตลาดทุนไทยมีเสน่ห์มากขึ้น

แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะให้เงินปันผล (Dividend) ในระดับที่ดี แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องการไม่ใช้เพียงแค่เงินปันผล แต่เป็นความคาดหวังในการเติบโตของธุรกิจ (Growth) ที่มีความต่อเนื่องและมั่นคง ซึ่งทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนเติบโตตามไปด้วย

หนึ่งในกลไกสำคัญที่จะสร้างการเติบโตของตลาดทุนไทยให้แตกต่างจากเศรษฐกิจยุคเดิม คือ การมีผลิตภัณฑ์ที่เป็น New S-Curve เช่น พลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ๆ ธุรกิจที่ตอบโจทย์สังคมในด้าน Green, Digital และ Aging Society เข้ามาในตลาดทุนมากขึ้น ซึ่ง ก.ล.ต.ควรจะต้องพิจาณาปรับเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคกับบาง Sector หรือไม่เพื่อเปิดโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ๆในอนาคตเข้ามา

นางพรอนงค์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาตลาดทุนไทยมีพัฒนาการด้าน Green ที่ดีมาก จะเห็นได้จากบริษัทจดทะเบียนและผู้ระดมทุนในกลุ่มนี้เข้ามาใช้กลไกของตลาดทุนไทยมากขึ้น ซึ่งมองว่าเรื่อง ESG เป็นทางรอด ไม่ใช่แค่ทางเลือก จะทำอย่างไรให้มีเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ESG ที่เป็นการ Transition ธุรกิจ ทำอย่างไรให้เห็น Visibility ในเรื่องนี้ที่เป็นข้อดีของตลาดทุนไทย

รวมถึงการมี One Report ของบริษัทจดทะเบียนออกมาให้นักลงทุนสามารถทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับการทำกิจจกรรมของบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่ผ่านมา และสามารถให้นักวิเคราะห์นำไปใช้วิเคราะห์และเปรียบเทียบได้

“เชื่อว่าทุกคนอยากเข้าไปในตลาดที่มีการจัดการที่ดี ไม่เอาเปรียบ แต่ของที่มาขายอาจไม่น่าสนใจ หรือแข่งขันไม่ได้กับตลาดอื่น ตรงนี้ต้องหาแนวทางว่าทำอย่างไร หากพูดในภาพใหญ่ก็เปรียบเสมือนว่าทำอย่างไรให้ Soft Power Generate เป็น GDP ให้กับประเทศ

ตลาดทุนไทยเรามีสิ่งที่ intangible การปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้ตลาดทุนไทยน่าสนใจ แต่เราก็ต้องมองหาสิ่งใหม่ที่เข้ามาใน Sector ที่น่าสนใจ ตอบสนองต่อเทรนด์ในการทำธุรกิจปัจจุบันควบคู่ไปด้วย” นางพรอนงค์ กล่าว

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ Green Product มากขึ้น หรือ Transition Finance ซึ่งมีการ Hearing เกี่ยวกับ Green investment trust ในการที่มีป่าที่เป็นไม้มีค่า และเมื่อเกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินในเชิงพาณิชย์ ระหว่างทางมีคาร์บอน จะสามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนได้อย่างไร

อย่างกรณีของช่วงปลายปีที่ผ่านมา Thailand ESG Fund เกิดขึ้นมาเร็วมาก เป็นการที่ส่งเสริมให้คนทำดี ได้ประโยชน์ทางภาษี มี Visibility ใน Universe การลงทุน เป็นต้น

ต่างชาติมาเมื่อเห็น Value

สำหรับประเด็นของผู้ลงทุน เลขาฯ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับนักลงทุนทุกกลุ่ม และให้นักลงทุนเชื่อมั่นกับสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.ได้วางมาตรการคุมเข้มมากขึ้น โดยเฉพาะการกำกับดูแลระบบการซื้อขาย Program Trading และ Short Selling รวมถึงการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดในคดีที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะคดีทุจริต บมจ.สตาร์คอร์ปอเรชั่น (STARK) การสร้างราคาหุ้น บมจ.มอร์รีเทิร์น (MORE)

นอกจากนี้ ก.ล.ต.และตาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาเสริม เพื่อให้ผู้ลงทุนไทยและผู้ลงทุนต่างประเทศต่างมั่นใจ ซึ่งเท่าที่ได้ออกมาตรการมาระดับหนึ่งแล้วก็มีเสียงตอบสนองมาค่อนข้างดี เห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยกลับมาบ้างแล้ว

“แม้จะมีหลายปัจจัย แต่สิ่งที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ กำลังตอบหลายโจทย์ ให้มั่นใจในเชิง Compliance อีกโจทย์ก็ให้มั่นใจเชิงความเท่าเทียม การเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตลาดทุน สามารถเอาผิดกับคนกระทำผิดได้ไหม มั่นใจในการตรวจสอบ การบังคับใช้กฎหมาย เอาผิดได้เร็ว ซึ่งต้องปรับเปลี่ยน แก้เกณฑ์ การรายงาน และเป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป”เลขา ก.ล.ต.ระบุ

นางพรอนงค์ กล่าวอีกว่า ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะต้องเห็น Value ของตลาดหุ้นไทยก่อน สิ่งที่สนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติสนใจตลาดหุ้นไทย ยังมีมิติอื่นที่น่าสนใจ อย่างเรื่อง ESG หรือทำอย่างไรให้นักลงทุนต่างชาติรับรู้ข้อมูล และความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีการเปิดเผยข้อมูลที่รับรองเป็นรายไตรมาส ซึ่งที่ผ่านมาต่างประเทศชื่นชมในเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมีความโปร่งใสและมากพอ รวมถึงมีการรายงานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top