QTC เดินเกมรุกเจาะตลาดหม้อแปลงกลุ่มพลังงานใน-ตปท. จ่อประมูลงานสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 16 MW

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เปิดเผยถึงแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 67 บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่น, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่มีการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี, สเปน และเดนมาร์ก เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวให้ความสำคัญกับนโยบายการลด Carbon Footprint ซึ่งหม้อแปลงไฟฟ้าของ QTC ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ขณะที่ตลาดในประเทศ บริษัทฯ เตรียมประมูลงานของภาครัฐมูลค่าโครงการ 1,000–3,000 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 3/67 โดยบริษัทฯ คาดว่าจะคว้างานเข้าพอร์ตไม่ต่ำกว่า 15% ของมูลค่าโครงการ นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมประมูลงานหม้อแปลงไฟฟ้าในส่วนของภาคอุตสาหกรรม และด้านพลังงานทดแทน คาดว่าจะคว้างานประมูลงานในกลุ่มดังกล่าว 30-50% ของมูลค่างานรวม 400-500 ล้านบาท

พร้อมกันนี้บริษัทได้จัดตั้ง บริษัท คิวทีซี อาร์อี จำกัด (QTC RE) เพื่อดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากโซลาร์เซลล์ พร้อมอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องต่างๆ และ บริษัท คิวทีซี อีวี จำกัด (QTC EV) เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยทั้ง 2 บริษัทที่จัดตั้งใหม่เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเข้าประมูลงานสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง และเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ ภายในไตรมาส 3/67 ซึ่งเป็นโครงการส่วนขยายจากโรงไฟฟ้าโซลาร์ ของบริษัท คิว โซลาร์ 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ QTC ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สอดรับกับนโยบายการให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้มาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ขององค์กร เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 และยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การลงทุนให้เป็นไปตามทิศทางของโลก ตลอดจนการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลประกอบการในระยะยาว

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/67 บริษัทฯ มีรายได้รวม 265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากงวดเดียวกันกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 10 ล้านบาท จากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า และธุรกิจเทรดดิ้ง ปัจจัยหนุนที่ช่วยผลักดันรายได้รวมให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากแรงขับเคลื่อนการปรับกลยุทธ์ด้านตลาดแบบเชิงรุก ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจพลังงานที่มีดีมานด์การเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ย 30-50% ซึ่งเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าที่โตเฉลี่ย 10-15% ส่งผลให้บริษัทฯ เดินเกมรุกเจาะตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงานในช่วงที่ผ่านมามากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/67 มีงานในมือ (Back Log) ที่รอส่งมอบในปี 2567 ที่ 440 ล้านบาท

“สำหรับยอดส่งออกต่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกมีการชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ส่งผลกระทบด้านการขนส่งสินค้ามีความล่าช้า ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากการหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีปัญหา”

นายพูลพิฒน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top