นักวิชาการแนะจับตากฎหมาย CBDC ชี้เสถียรภาพการเมืองกระทบความเชื่อมั่น

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากกฎหมาย The CBDC Anti-Surveillance State Act ผ่านมาบังคับใช้ในสหรัฐฯ จะเกิดผลต่อบทบาทของธนาคารกลาง ระบบการกำกับดูแล CBDC เงินสกุลคริปโต เงินสกุลดิจิทัลต่างๆ ของเอกชน อุตสาหกรรมการเงินดิจิทัล และระบบการเงินโลกในอนาคตอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาติดตามดู ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบรรดานักลงทุนในตลาดการเงิน อุตสาหกรรมการเงิน พัฒนาการของระบบการเงินในอนาคต ระบบธนาคารกลางเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ใช้เงินดิจิทัลด้วย รวมทั้งอะไรคือความสมดุลระหว่างมิติความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงิน เสรีภาพทางการเงิน และการแทรกแซงกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะอีกด้วย ประเด็นเรื่องความสมดุลของบทบาทของรัฐ (ผ่านธนาคารกลาง) กับการปกป้องความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล เกี่ยวพันกับค่านิยมของแต่ละสังคมที่แตกต่างกัน

ตอนนี้กฎหมายป้องกันการสอดส่องจาก CBDC ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มาแล้วด้วยคะแนนเสียง 213 ต่อ 192 ขั้นต่อไปก็จะมีการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หากผ่านทั้งสองสภา เมื่อประธานาธิบดีลงนามแล้วก็ประกาศบังคับใช้ ประเมินเบื้องต้นกฎหมายนี้จะทำให้ธนาคารกลางมีบทบาทจำกัดลงมาก ระบบการเงินโลกในอนาคตอาจหันไปใช้ระบบ Free Banking มากขึ้น ความก้าวหน้าของระบบการเงินแบบกระจายศูนย์จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีค่านิยมแบบประชาธิปไตยและเคารพในเสรีภาพส่วนบุคคล เราเห็นตัวอย่างได้ในหลายประเทศในยุโรป และสิงคโปร์ ขณะที่ ในประเทศที่มีค่านิยมแบบอำนาจนิยม เงินดิจิทัลจะออกโดยธนาคารกลาง แทนที่ระบบการเงินจะกระจายศูนย์มากขึ้น ประเทศกลุ่มนี้จะใช้เทคโนโลยีทางการเงินทำให้เกิดการรวมศูนย์ที่ธนาคารกลางมากขึ้นกว่าเดิม ธนาคารกลางจะมีอำนาจมากขึ้นและสามารถสอดส่องธุรกรรมทางการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เมื่อมีการใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) จะมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิมผ่าน CBDC ปรากฎการณ์เหล่านี้ เราเห็นตัวอย่างได้ในประเทศจีน

การที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ออกกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว เสรีภาพทางการเงินป้องกันการสอดส่องจาก CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะทำให้หลายประเทศดำเนินการตาม การพัฒนาดอลลาร์ดิจิทัลของธนาคารกลาง CBDC เผชิญอุปสรรค อำนาจธนาคารในการออกดอลลาร์ดิจิทัลของธนาคารกลางลดลงและต้องขออนุมัติจากรัฐสภา ผลของกฎหมายต่อต้านการสอดส่องจาก CBDC ต่อนวัตกรรมการเงินดิจิทัลยังไม่ชัดเจน แต่การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลด้านการเงินนั้นสอดคล้องกับระบบเงินสกุลคริปโตและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจทางการเงินและรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

อย่างไรก็ตาม การกำกับควบคุมโดยธนาคารกลาง การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินบางครั้งก็มีความสำคัญในป้องกันธุรกรรมทางการเงินจากกิจกรรมผิดกฎหมาย ความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและประเด็นเรื่องความมั่นคง สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลสามารถรวบรวมข้อมูลลูกค้า ประวัติการทำธุรกรรมต่างๆ อย่างละเอียด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต การบริโภคสินค้าและการใช้บริการ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสร้างโปรไฟล์และอัลกอริทึมคาดการณ์เพื่อเข้าพฤติกรรมในอดีตและอนาคตของผู้บริโภค ผู้บริโภคบางคนมองว่าศักยภาพของ AI เป็นเหมือนเครื่องมือที่เปิดให้ปรับเปลี่ยนบริการและสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) จำนวนมากๆ ได้พร้อมกันเรียกว่า สามารถทำ Mass Customization ได้นั่นเอง

บทบาทของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินโลกก็ลดลง การไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยเงินเฟ้อเท่านั้น แต่สหรัฐฯ ยังเผชิญ De-Dollarization จากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกลดการถือครองดอลลาร์และหันมาถือทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น ยังมีอุปทานเงินดอลลาร์จำนวนมากในตลาดการเงินและสหรัฐฯ มีการทำขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง การไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นไปเพื่อการประคับประคองไม่ให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงมากเกินไปด้วย เพื่อจูงใจให้คนถือเงินดอลลาร์จากอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ย การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีนี้น่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เล็กลงและช้ากว่าตลาดคาดการณ์ โดยอาจปรับลดลงหนึ่งหรือสองครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง หรืออาจไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลงเลยในปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ สนับสนุนเงินดอลลาร์ชะลอการลดการถือครองดอลลาร์ของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า รักษาความสามารถในการกู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล 35.6-35.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง 2.259 แสนล้านดอลลาร์ และยังมีการถือครองทองคำมากขึ้นและเพิ่มสัดส่วนของทองคำในทุกสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับจากระดับ 15,982 ล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ย.66 มาอยู่ที่ระดับ 17,237 ล้านดอลลาร์ในเดือน เม.ย.67

ส่วนสถานการณ์การลงทุนและเศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมืองจากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ต้องติดตามและประเมินว่า ดุลยภาพใหม่การเมืองไทยหลังเกมแห่งอำนาจนอกวิถีประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ช่วงรอผลการตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ นักลงทุนในตลาดการเงินจะชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจน เสถียรภาพทางการเมืองลดลง อาจมีการถ่วงดุลเชิงอำนาจมากขึ้นจากอำนาจที่ไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน

หากมีการใช้กลไกขององค์กรอิสระ (ที่ไม่อิสระ) และกลไกระบบยุติธรรม (ที่ไม่ยุติธรรม) ภายใต้รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและไร้มาตรฐานแล้วในการตัดสินคดีทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจจะนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ ภาวะดังกล่าวหากพัฒนาไปสู่ความรุนแรงจะกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนมาก อาจมีการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยมากขึ้น วิกฤตการเมืองรอบใหม่สั่นคลอนไม่เพียงแต่เสถียรภาพรัฐบาลเท่านั้น อาจส่งผลสะเทือนต่อระบบการเมืองและระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย ความมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลักประกันขั้นต้นของความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ชนชั้นนำผู้อยู่ในวังวนของเกมแห่งการช่วงชิงอำนาจพึงรำลึกว่า ต้องไม่เล่นเกมจนกระทั่งสร้างความเสียหายต่อระบบต่างๆ ของประเทศและความเดือดร้อนต่อประชาชน การเล่นเกมช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำต้องหาจุดดุลยภาพใหม่เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก (Positive-sum game) ไม่ใช่ Zero-sum game

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top