ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในเดือนธันวาคม 2567 นี้ จะเริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป (อียู) โดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เช่น ผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและผู้ประกอบกิจการยางพาราไทย มีการจัดการข้อมูลยางพาราอย่างเป็นระบบ รองรับกฎระเบียบ EUDR เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคกับชาวสวนยาง และตลอดจนเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกษตรกรตื่นตัว เป็นโอกาสที่ดีช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระดับโลกต่อไป
ขณะเดียวกัน กยท. ได้จัดเตรียมระบบข้อมูลยางพาราไทยให้เป็นไปตามเงื่อนไข ทั้งระบบลงทะเบียนเกษตรกรที่จะต้องใช้เป็นพื้นฐาน รองรับกฎระเบียบ EUDR ซึ่งการจัดทำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (RAOT GIS) ของ กยท. เป็นอีกหนึ่งระบบที่ได้รับการรองรับตามกฎระเบียบ EUDR ในขณะนี้
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ กยท. เร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่สวนยางในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทยอย่างจริงจัง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ในวันนี้ กยท. ประเดิมซื้อขายน้ำยางสดที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มา (เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR) ผ่านตลาดกลาง กยท. 2 แห่ง มีปริมาณน้ำยางสดรวมกว่า 138,000 กิโลกรัม โดยวันนี้ราคาน้ำยางสดตรวจสอบย้อนกลับได้ งสุดที่ 78 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10.5 ล้านบาท ถือเป็นการซื้อขายน้ำยางสดตรวจสอบย้อนกลับได้ครั้งแรกในไทย
ก่อนหน้านี้ กยท. ได้เปิดตลาดซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 และยางก้อนถ้วยที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ ผ่านการประมูลด้วยระบบ TRT ดังนั้นการ Kick Off ในวันนี้ จึงแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการจัดการข้อมูลยางพาราและระบบการซื้อขายยางผ่านตลาดกลางของ กยท. ที่มีมาตรฐาน พร้อมรองรับความต้องการยาง EUDR ของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
สำหรับบริหารจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (ใบจุดกลม Colletotrichum) ที่ผ่านมา กยท.ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและยับยั้งการเกิดโรคมาโดยตลอด อาทิ การจัดหาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดและยับยั้งเชื้อรา (เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่เกิดการระบาดมาก) ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกรและส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรด้วยการปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่ที่ระบาดรุนแรง และประสานงานกับกรมวิชาการเกษตรในการขยายพันธุ์และขนย้ายกล้ายางที่ปลอดโรค และวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรค รวมไปถึงการทดสอบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ ในแปลงของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบโรคฯ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค.65 ทำให้แนวโน้มความรุนแรงของโรคฯ ลดลง และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน มิ.ย.67 มีพื้นที่สวนยางได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคฯ จำนวน 28,840 ไร่ ลดลงจากเดือน พ.ค.ประมาณ 97% สำหรับโครงการบูรณาการฯ นี้เป็นอีกก้าวของการพัฒนาชีวภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรค ซึ่ง กยท. ได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมกันทดสอบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ และสารอื่นๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นเวทีที่ทุกภาคส่วนได้มาบูรณาการทดลองร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยมีผู้ประกอบการจากภาคเอกชนเข้าร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 บริษัท ในพื้นที่สวนยางของตัวแทนเกษตรกรจังหวัดสงขลาจำนวน 24 แปลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 67)
Tags: EU, กยท., การยางแห่งประเทศไทย, ธรรมนัส พรหมเผ่า, น้ำยางสด, ยาง EUDR, ยางพารา, สหภาพยุโรป, เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา