CIMBT งวดครึ่งปีแรกกำไรหดตามรายได้-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แจงกด NPL ลดลงเหลือต่ำกว่า 3%

นาย พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารงวด 6 เดือนมีกำไรสุทธิ 1,294.6 ล้านบาท ลดลง 74.3 ล้านบาท หรือ 5.4% เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 66 กำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 1,611.0 ล้านบาท ลดลง 117.2 ล้านบาทหรือ 6.8% สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน 1.7% และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 7.7% สุทธิกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 22.7%

เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.67 และปี 66 รายได้จากการดำเนินงาน 7,038.3 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปี 66 จำนวน 118.4 ล้านบาท หรือ 1.7% เป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 28.3 ล้านบาท หรือ 4.3% สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 139.7 ล้านบาท หรือ 2.9% เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ย รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 49.6 ล้านบาท หรือ 3.1% ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน สุทธิกับการลดลงของกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 6 เดือนปี 67 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 66 เพิ่มขึ้น 312.0 ล้านบาทหรือ 7.7% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าภาษีอากร สุทธิกับการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวด 6 เดือนปี 67 อยู่ที่ 62.0% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 66 อยู่ที่ 56.6%

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) สำหรับงวด 6 เดือนปี 67 อยู่ที่ 2.2% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 66 อยู่ที่ 2.7% เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น

วันที่ 30 มิ.ย.67 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 251.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 316.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปี 66 ซึ่งมีจำนวน 310.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 79.5% จาก 78.9% ณ วันที่ 31 ธ.ค.66

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 2.9% ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 อยู่ที่ 3.3% สาเหตุเกิดจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในระหว่างงวด 67 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 อยู่ที่ 129.1% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 66 ซึ่งอยู่ที่ 124.2% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 มิ.ย.67 มีจำนวน 59.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 20.8% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15.5%

ครึ่งหลังปี 67 ซีไอเอ็มบี ไทย เดินหน้ายุทธศาสตร์ ‘Digital-led Bank with ASEAN Reach’ ‘ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล’ ด้วยจุดแข็ง ASEAN, Digitalization, Wealth, Consumer Finance, และ Sustainability

“กลยุทธ์สำคัญคือสร้าง Digital Ecosystem ยกระดับบริการในโลกยุคใหม่ ผ่านแอปพลิเคชัน CIMB THAI ล่าสุดเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีเพื่อการลงทุน พร้อมเรียกดูพอร์ตการลงทุนได้ทุกที่ทุกเวลา และลงทุนหุ้นกู้ตลาดรองได้ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้เปิดตัว บัญชีเงินฝากประจำ Fixed D ผลตอบแทนดี ยืดหยุ่นสูง เปิดบัญชีผ่านแอปได้ ไม่มีสมุดคู่ฝาก สอดรับกับคอนเซ็ป It’s Simpler This Way! ใช้ง่าย รู้ใจกว่าเดิม บริการครบจบในแอปเดียว นอกจากนี้ เราขยายช่องทางบริการไปยังพันธมิตรทางธุรกิจ โดยจับมือกับ TrueMoney ผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดช่องทางใหม่ ให้ลูกค้าสามารถลงทุนหุ้นกู้ตลาดรองได้ทุกวัน คัดสรรหุ้นกู้ดีดีมานำเสนอ สะดวกสบาย เข้าถึงง่าย ผ่านแอป TrueMoney “ นายพอล วอง กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top