รัฐปีนังของมาเลเซียหวังที่จะกลับมาทวงบัลลังก์ซิลิคอนวัลเลย์แห่งตะวันออกอีกครั้ง หลังมีแผนรุกห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิประดับต้นน้ำ (Front End) ตามแผนยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ
ทั้งนี้ ห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิประดับต้นน้ำเกี่ยวข้องกับการผลิตแผ่นเวเฟอร์ การทดสอบและบรรจุขั้นสูง และการออกแบบแผงวงจรรวม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของมาเลเซียในการดึงดูดการลงทุนมูลค่า 1.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573
หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (SCMP) รายงานว่า มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก มุ่งเน้นที่กิจกรรมต้นน้ำเป็นหลัก โดยมาเลเซียครองส่วนแบ่งตลาดการประกอบ การทดสอบ และการบรรจุ คิดเป็นสัดส่วน 13% ของโลก
รัฐบาลมาเลเซียจัดสรรเงินมากกว่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยกระดับห่วงโซ่คุณค่าภายใต้ยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติที่เปิดตัวเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว
ปีนัง ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมาเลเซีย เป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติมากกว่า 350 แห่ง และดึงดูดเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น อินเทล (Intel) อินฟินีออน (Infineon) แลม รีเสิร์ช (Lam Research) และเท็กซัส อินสตรูเมนส์ (Texas Instruments) เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 67)
Tags: ชิป, ปีนัง, มาเลเซีย