กรรมการ BOJ สายพิราบชี้ ควรชะลอขึ้นดอกเบี้ย หวั่นพิษมาตรการภาษีสหรัฐฯ

โทโยอากิ นากามูระ หนึ่งในคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาส่งสัญญาณในวันนี้ (16 พ.ค.) ว่า BOJ ควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน โดยเตือนว่าเศรษฐกิจกำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

นากามูระ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีจุดยืนสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (สายพิราบ) มากที่สุด ย้ำว่า ธนาคารกลางจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่าง “ระมัดระวัง” และต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าความไม่แน่นอนขั้นรุนแรงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนอย่างไร

“เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญแรงกดดันขาลงที่หนักหน่วงขึ้น” นากามูระกล่าว พร้อมชี้ว่าการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีในอัตราสูง โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของญี่ปุ่นนั้น อาจกระทบกำไรบริษัทอย่างหนัก

“การรีบร้อนขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว อาจไปซ้ำเติมการบริโภคและการลงทุนให้ยิ่งแผ่วลงไปอีก” นากามูระกล่าวเสริม

อนึ่ง ข้อมูลที่เปิดเผยวันนี้ชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1/2568 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหนึ่งปี และหดตัวแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง และกำลังถูกคุกคามจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

นากามูระระบุว่า แม้รายจ่ายลงทุน (capital expenditure) จะยังคงแข็งแกร่ง แต่ความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ก็เริ่มทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งต้องเลื่อนแผนการลงทุนออกไป หรือเลือกที่จะรอดูสถานการณ์ไปก่อน

นากามูระยังเสริมด้วยว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาจจุดชนวนให้เกิด “วงจรอุบาทว์ที่อุปสงค์และราคาสินค้าตกต่ำลง” ซึ่งยิ่งทำให้ BOJ ต้องรอบคอบอย่างมากในการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต

มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ โดยญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญกับอัตราภาษีสูงถึง 24% ตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกเก็บภาษี 25% กับสินค้าส่งออกหลักอย่างรถยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม ซึ่งสร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก

ความหวั่นวิตกว่านโยบายของทรัมป์จะฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลง ได้บีบให้ BOJ ต้องปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลงอย่างมากในการประชุมนโยบายเมื่อวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. และยังทำให้เกิดคำถามต่อมุมมองเดิมของ BOJ ที่ว่า การขึ้นค่าจ้างอย่างต่อเนื่องจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 68)

Tags: , , ,
Back to Top