
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประกาศเดินหน้าทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเตรียมประสานขอเข้าพบผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาต (สศช.) หรือสภาพัฒน์, กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ถึงแนวทางในการมองเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน
รวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคการเงิน และภาคอุตสาหกรรมในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อชี้เป้าอุตสาหกรรม และจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัด ในการส่งเสริมการปรับความสามารถในการผลิตของไทย (competitiveness) รวมไปถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าการลงทุนจากต่างชาติ ที่ ธปท. ร่วมกับสภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ และ กกร.ได้ร่วมกันศึกษา
“จะไปคุยถึงการจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้มีข้อมูลตรงกันเป็นหนึ่งเดียว” นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย กล่าวในการแถลงผลประชุม กกร.
ทั้งนี้ แผนงานที่ กกร.จะนำเสนอนั้นมีหลายเรื่อง ซึ่งจะหารือกันให้เกิดความชัดเจน เช่น ภายใน 6 เดือน หรือภายใน 1 ปีจะต้องดำเนินการในเรื่องใดให้สำเร็จบ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นคงให้กับนักลงทุน
โดย กกร.มีความกังวลเรื่องภาวะการส่งออก ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี และเสถียรภาพทางการเมือง แต่จะไม่ไปก้าวล่วง ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทางการเมือง หลังจากนี้คาดว่าจะมีการร้องเรียนอีกหลายเรื่องตามมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การเบิกจ่ายงบประมาณเกิดการสะดุด
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองนั้น จะต้องเร่งทำให้เกิดเสถียรภาพอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา โดย กกร.ไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่ขอให้สามารถทำงานได้ และรับฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชน
สิ่งที่เป็นกังวล คือ เรื่องมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ก.ค.68 ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร หรือจะมีการขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่ หากมีข้อสรุปแล้วเราได้เปรียบหรือเสียเปรียบคู่แข่ง ถ้าถูกเก็บภาษีสูงกว่า ก็จะเป็นเรื่องใหญ่
ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และมีมิติที่ซ้ำซ้อนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และความมั่นคง ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นไปตามครรลองของกฎหมาย ยังไม่มีอะไรผิดปกติ ถึงแม้จะมีการชุมนุมทางการเมือง ก็เหมือนกับในประเทศอื่น ๆ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า กกร.จะไม่ทน ต้องหารือเชิงรุกแข่งกับเวลา ครั้งนี้จะต้องมีความชัดเจน เช่น การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออกยังไม่เต็มที่ ไม่เช่นนั้นก็ต้องมีการพูดในการประชุมทุกครั้ง แต่ยังไม่ได้มีการปฏิบัติจริง ข้อมูลในช่วง 5 เดือนแรก ชี้ชัดว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ เติบโตกว่า 27% ไม่ได้มาจากกำลังการผลิตในประเทศ แต่เป็นทางผ่านจากการนำเข้าจากต่างประเทศ
“นักลงทุนก็จับตาดูเหมือนกัน ว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งยังไม่ได้มีการตัดสินใจ แต่ยอมรับว่าตกใจ เมื่อเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่…เหตุการณ์ต่าง ๆ มาเกิดขึ้นพร้อมกันในจังหวะที่ไม่ดี เป็นช่วงที่มีความเปราะบาง” นายเกรียงไกร กล่าว
ส่วนปัญหาการค้าชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวโดยการส่งออกไปทางเรือ ซึ่งมีราคาสูงขึ้น 6 เท่า เนื่องจากมีปริมาณระวางเรือไม่เพียงพอ ขณะที่โรงงานในกัมพูชาได้นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศ อื่นทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และมีความต้องการเรื่องสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง
ประธาน ส.อ.ท. เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง หรือปรับลดลงอีก 0.75% รวมถึงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ จากปัจจุบันที่ปรับตัวแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ต้องอาศัยปัจจัยจากการเติบโตด้านการส่งออก และการท่องเที่ยว
“ในอนาคตมีความไม่แน่นอนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะรอให้เกิดปัญหาขึ้นมาก่อน แล้วค่อยทำ หรือให้การช่วยเหลือ เพื่อป้องกันไปก่อน” นายเกรียงไกร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)