
เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจการภายในประเทศด้วยมุมมอง “America First” ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ภายใต้สภาวะที่นักวิเคราะห์เรียกว่า “slower-and-longer economy” ท่ามกลางสงครามการค้าและความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ หรือเสี่ยงต่อการปะทุได้ตลอดเวลา ทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ภูมิภาคยุโรป จีน-ไต้หวัน และสหรัฐฯ-กลุ่ม BRICS
ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและชาติมหาอำนาจที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง เศรษฐกิจอาเซียนกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากภูมิภาคนี้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจของชาติสำคัญหลายแห่งและเศรษฐกิจโลกโดยรวมกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทำให้อาเซียนโดดเด่นขึ้นมาในฐานะภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตและเป็นที่จับตาในเวทีเศรษฐกิจโลก
และ อินโดนีเซีย ผงาดขึ้นเป็นดาวเด่นแห่งอาเซียน ดึงดูดสายตานักลงทุนทั่วโลก ด้วยศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่ง และโอกาสทองสำหรับภาคธุรกิจไทยที่พร้อมคว้าชัยในตลาดเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ประตูสู่โอกาสที่แข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจโลกผันผวน
อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วย GDP ที่สูงมากและเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 5% จำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกประมาณ 280 ล้านคน และมีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก อายุเฉลี่ยเพียง 30 ปี โดย 60% มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ทำให้เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นแหล่งแรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า โดยบางคาดการณ์ระบุว่าอาจเป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2050
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ต่างคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2568-2569 จะอยู่ที่ราว 4.7-4.8% ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน สอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าหลายประเทศ รวมถึงกลุ่มอาเซียนด้วยกัน พร้อมกับมีอัตราเงินเฟ้อหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่สามารถควบคุมได้ และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต่ำกว่า 40%
ไตรมาส 1/2568 เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตถึง 4.87% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.6% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.5% ต่อ GDP
นายโจชัว พาร์เดเด หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารเพอร์มาตา กล่าวว่า อินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงแข็งแรง เนื่องจากฐานผู้บริโภคใหญ่สุดในภูมิภาค โดยมีธุรกิจภาคการผลิตภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากนัก และที่ผ่านมาอินโดนีเซียยังได้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน โดยเป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น โดย FDI ในไตรมาส 1/68 เติบโตขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน
อินโดนีเซียยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย โดยเฉพาะถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ขณะที่มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตด้วยต้นทุนแรงงานที่ยังคงต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักในเอเชีย ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนด้านนโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความสำคัญกับระบบนิเวศสีเขียว (Green Ecosystem) และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง แต่นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว อินโดนีเซียยังมีความท้าทายอย่างมากจากปัญหาในการบังคับกฎหมายให้สม่ำเสมอ และระบบราชการที่อาจมีข้อบกพร่องเรื่องประสิทธิภาพ ไม่เอื้ออำนวยหรือสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะไม่ได้คุ้นชินกับการประกอบธุรกิจในพื้นที่ แต่ภาครัฐก็เริ่มมีมาตรการสนับสนุน และแนวทางแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เข้ามาช่วย
รวมทั้งอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสูง จากการเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีแนวชายฝั่งยาว และทำเลที่ตั้งที่จะรับรู้ผลกระทบภัยธรรมชาติได้เร็ว จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจการเกษตรและอาหารอยู่บ้าง และถึงแม้จะมีจำนวนประชากรพร้อมทำงานอยู่มาก แต่ ณ ตอนนี้ อาจจะยังไม่ใช่แรงงานฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญทั้งหมด จึงต้องใช้เวลาฝึกฝนและลดช่องว่างทางการศึกษาเพื่อให้บุคลากรสามารถแตะประสิทธิภาพสูงสุดของพวกเขาได้
ศักยภาพไปได้ไกล-ธุรกิจจากไทยวางรากฐานยาว
ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้มีการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ แต่หลังจากนี้รัฐบาลใหม่กำลังจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านแรงงานฝีมือ ซึ่งอินโดนีเซียก็มีประชากรในช่วงอายุทำงานมาก เนื่องจากอายุประชากรเฉลี่ยอยู่ที่แค่ 30 ปี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศสามารถโตได้เร็ว
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง [SCGP] หนึ่งในภาคธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ระบุว่า มองภาพอินโดนีเซียในตอนนี้เหมือนประเทศไทยในอดีต แต่มีโอกาสในการเติบโตไปได้ไกลกว่าประเทศไทยมาก เนื่องด้วยอายุเฉลี่ยประชากรที่เด็กกว่า การขยายตัวของคนชั้นกลาง และจำนวนประชากรที่มีมากเป็นอันดับ 4 ของโลก การเติบโตของอินโดนีเซียจึงเป็นที่น่าจับตามมอง เพื่อคว้าโอกาสขาขึ้นตรงนี้ไว้
ที่ผ่านมา ภาคเอกชนไทยได้เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงต่อจากนี้ เนื่องจากบริษัทของไทยเริ่มมองหาแหล่งลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นพร้อมไปกับที่ภาครัฐของอินโดนีเซียกำลังต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ โดยบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียมายาวนานแล้ว นอกจาก SCGP แล้ว ยังมี บมจ.บ้านปู [BANPU] และ ธนาคารกรุงเทพ [BBL] ซึ่งในไตรมาส 1/68 สัดส่วนใหญ่สุดของกลุ่มทุนจากไทยที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย คือ กลุ่มพลาสติกและเคมีภัณฑ์
กรณีของ BBL เมื่อปี 63 ได้ทุ่มเงินลงทุนสูงถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าซื้อธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งเป็นการซื้อกิจการธนาคารในอาเซียนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL ระบุว่า ธนาคารกรุงเทพเชื่อมั่นในศักยภาพของอินโดนีเซีย เพราะที่ผ่านมาเราได้สั่งสมความรู้ ความเข้าใจ และเครือข่ายในท้องถิ่น พร้อมทั้งส่งเสริมให้บริษัทไทยอื่น ๆ เห็นถึงโอกาสในอินโดนีเซียผ่านการแบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จของเรา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันการดำเนินธุรกิจในยุคที่มีแรงกระเพื่อมจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ และการย้ายฐานการผลิตรวมถึงกระแสย้อนกลับของโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของประเทศขนาดใหญ่ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลก จึงเชื่อมั่นว่าอาเซียนยังคงเป็นศูนย์กลางแห่งความสงบ ซึ่งไทยและอินโดนีเซียในฐานะสองเศรษฐกิจใหญ่ของภูมิภาค มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสที่มั่นคงและยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบจากกระแสเศรษฐกิจโลก และยังช่วยเชื่อมโยงนักลงทุนกับโอกาสในอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ “ดานันตารา อินโดนีเซีย” ชี้เป้าโอกาสลงทุน
ดานันตารา อินโดนีเซีย (Danantara Indonesia) ถูกจัดตั้งภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต แห่งอินโดนีเซีย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ใกล้เคียงกับกองทุนเทมาเส็ก (Temasek) ของรัฐบาลสิงคโปร์ ดานันตาราเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการเดินหน้าให้ถึงเป้าหมายการผลักดันอินโดนีเซียการอัตราการเติบโตแตะระดับ 8% ภายในปี ค.ศ. 2029 และให้เป็นประเทศมีรายได้สูงภายในปี ค.ศ. 2045
นายปันดู ชำห์รีร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน ดานันตารา เปิดเผยว่า กองทุนจะมุ่งเน้นไปที่ 6 แนวทางการลงทุนหลัก ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติผ่านอุตสาหกรรมปลายน้ำ สร้างภูมิคุ้มกันของชาติด้วยภาคธุรกิจสำคัญอย่างอาหารหรือพลังงาน พัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ เจาะตลาดการเงินเชิงลึก เพิ่มการผลิตในประเทศเพื่อแข่งขันและดึงดูดการลงทุนในภูมิภาค รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยแรงงานที่มีประสิทธิภาพ
“บริษัทเอกชนจากประเทศไทยก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เพื่อรับเม็ดเงินการลงทุนของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงจากการค้าระดับโลกมากขึ้น ทำให้การลงทุนในภูมิภาคมีความสำคัญในระยะต่อจากนี้”นายปันดู กล่าว
การลงทุนที่ดานันตารามองหาจะต้องเกิดผลประโยชน์ที่จับต้องได้จริง ตั้งแต่ การสร้างงานมูลค่าสูง การเพิ่มผลิตภาพในประชากร (Productivity per Capita) และข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยี โดยภาคธุรกิจจากประเทศไทยสามารถแสวงหาโอกาสเข้ามาจับมือกับพันธมิตรในภาคเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่
• ภาคการผลิต (สัดส่วน 25% ของ GDP) กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือธุรกิจการแปรรูปอาหาร
• ภาคการค้าปลีกและค้าส่ง (สัดส่วน 16% ของ GDP) กลุ่มร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีกทั่วไป หรือร้านค้าส่ง
• ภาคธุรกิจการบริการ (สัดส่วน 25% ของ GDP) กลุ่มโทรคมนาคม ธนาคาร หรือบริการ Fintech
• ภาคเกษตรกรรม (สัดส่วน 8% ของ GDP) กลุ่มการผลิตปุ๋ย หรือธุรกิจการเกษตร
• ภาคการก่อสร้างและขุดเจาะ (สัดส่วน 4% ของ GDP) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ งานก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง
• ภาคการท่องเที่ยวและ Hospitality (สัดส่วน 10% ของ GDP) กลุ่มเซนโรงแรม และการจัดการการท่องเที่ยวต่าง ๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 68)