
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เปิดเผยกับสื่อมวลชนในวันอาทิตย์ (6 ก.ค.) ว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศในเดือนเม.ย.นั้น จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ
เบสเซนต์กล่าวว่า ปธน.ทรัมป์ได้ส่งจดหมายไปยังประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่าหากประเทศดังกล่าวไม่เร่งดำเนินการใด ๆ แล้ว ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ภาษีศุลกากรของประเทศเหล่านี้นั้นจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับที่สหรัฐฯ ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.
เบสเซนต์ปฏิเสธที่จะยืนยันว่าวันที่ 1 ส.ค.เป็นกำหนดเส้นตายใหม่สำหรับการที่สหรัฐฯ จะกลับมาเรียกเก็บภาษีศุลกากรอีกครั้ง โดยกล่าวเพียงว่า วันที่ 1 ส.ค.จะทำให้ประเทศคู่ค้ามีเวลามากขึ้นในการเจรจาอัตราภาษีใหม่
“เรากำลังบอกว่านี่คือเวลาที่มันจะเกิดขึ้น ถ้าคุณต้องการเร่งดำเนินการ ก็ขอให้เร่งทำ แต่ถ้าคุณต้องการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเดิม นั่นคือทางเลือกของคุณ” เบสเซนต์กล่าวกับผู้สื่อข่าว และเสริมว่าขณะนี้ปธน.ทรัมป์กำลังกำหนดอัตราภาษีและข้อตกลงอยู่ ซึ่งปธน.ทรัมป์ก็เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ของเบสเซนต์
ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ได้ประกาศระงับการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงเป็นเวลา 90 วัน และการผ่อนผันดังกล่าวจะหมดอายุลงในวันพุธนี้ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักลงทุนและประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ
การแสดงความเห็นของเบสเซนต์มีขึ้นหลังจากที่ปธน.ทรัมป์กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ก.ค.ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มส่งจดหมายถึงประเทศคู่ค้าตั้งแต่วันศุกร์ที่ 4 ก.ค. เพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากร โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไป
“ผมคิดว่าภายในวันที่ 9 ก.ค. พวกเขาจะได้รับจดหมายกันถ้วนหน้า” ทรัมป์เปิดเผยในวันดังกล่าว และเสริมว่า “อัตราภาษีจะมีตั้งแต่ 10 หรือ 20% ไปจนถึง 60 หรือ 70%”
ทั้งนี้ หากมีการเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงสุดถึง 70% จริง จะถือเป็นอัตราที่สูงกว่าที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ซึ่งมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 50% โดยทรัมป์ระบุว่า แต่ละประเทศจะเริ่มจ่ายในวันที่ 1 ส.ค. และเงินจะเริ่มไหลเข้าสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่ได้เปิดเผยว่าประเทศใดจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราดังกล่าว หรือสินค้าใดจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่ากัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 68)