DBS ประเมินนโยบายทรัมป์ สร้างความเสี่ยงทั่วโลก แนะเพิ่มน้ำหนักทองคำ-สินทรัพย์ทางเลือกนอกตลาด

บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) (DBS) เปิดเผยว่า ความไม่ชัดเจนของนโยบายภาษีสหรัฐฯ กำลังสร้างความเสี่ยงในสินทรัพย์การเงินทั่วโลก พร้อมแนะลดน้ำหนักตลาดพันธบัตรรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งเพิ่มน้ำหนักหุ้นยุโรป สินทรัพย์ทางเลือกนอกตลาด โดยเฉพาะทองคำแนะนำเพิ่ม 5-10% ในพอร์ต คาดเป้าหมายที่ 3,765 ดอลลาร์/ออนซ์ภายในไตรมาส 4/68

ขณะที่ SET ตั้งเป้า 1,300 จุด และจีดีพีโต 1.8% ถ้าสามารถเจรจาภาษีได้ 18-20% เท่าภูมิภาค พร้อมคาดว่าคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) อาจปรับลดอักตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 1 ครั้งในปี 69

นายเวย์ ฟุก โหว (Wey Fook Hou) Chief Investment Office, DBS Bank กล่าวว่า ความไม่ชัดเจนด้านนโยบายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดัน risk premium ของสินทรัพย์การเงินสหรัฐฯ ให้เพิ่มสูงขึ้นการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ล่าสุด ยิ่งทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องความยั่งยืนทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญ

นายเวย์ ฟุก โหว มองว่า “Beautiful Tariff War” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีเป้าหมาย 2 ประการ ได้แก่ การควบคุมอิทธิพลของจีนในเชิงยุทธศาสตร์ และการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาความเสี่ยงล้มละลายของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าแบบเหมารวมในอัตรา 20% รายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้นหลังปรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่เพียง 185.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่เพียงพอแม้แต่จะครอบคลุมดอกเบี้ยจากหนี้ภาครัฐ ข้อจำกัดทางการคลังเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ DBS ปรับกลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญ ดังนี้

 

*ตลาดหุ้น

DBS คงน้ำหนัก “Neutral” คาดว่าผลตอบแทนจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค และกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีแนวโน้มที่กลุ่มบริการจะเติบโตดีกว่ากลุ่มที่เน้นสินค้า ท่ามกลาง ความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษี การจัดสรรการลงทุนตามประเทศ ยังคงขึ้นอยู่กับผลของการเจรจาข้อตกลงการค้าช่วงเดือนก.ค. ซึ่งอาจมีผลลัพธ์สองทางอย่างชัดเจน

DBS คงสมมติฐานว่า สหรัฐฯ จะเลือกแนวทางที่เป็น กลางและลดความตึงเครียดกับทั้งจีน และยุโรป ภายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และคงน้ำหนัก “Underweight” เล็กน้อยในหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากการคาดการณ์กำไรของตลาด ยังคงสูงเกินจริงที่ระดับ 11% เทียบกับ 7% สำหรับ ตลาดพัฒนาแล้ว และทิศทางค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่ากดดันให้นักลงทุนต้องกระจายการลงทุน มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้แนวโน้ม ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของ Nvidia ยังคงตอกย้ำธีมการเติบโตของ AI ว่ายังมีความแข็งแรง โดยโมเมนตัมในกลุ่มเทคโนโลยีคาดว่าจะช่วยชดเชยจุดอ่อน ในกลุ่มที่ไม่ใช่เทคโนโลยีของ สหรัฐฯ ได้ บางส่วน

DBS ยังคงให้น้ำหนัก “Overweight” ต่อหุ้นยุโรป จากความกังวลด้านความยั่งยืน ทางการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการจัดสรรการลงทุน รวมถึงแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านกลาโหมในฝั่งเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) หุ้นยังคงมีมูลค่าที่น่าดึงดูด โดยมีส่วนลดอยู่ที่ 33% เมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว และคาดว่ากำไรในปี 2025 จะเติบโตถึง 12.4%

 

*ตราสารหนี้

นายเวย์ ฟุก โหว กล่าวว่า DBS แนะนำกลยุทธ์ “Duration Barbell” ท่ามกลางความกังวลด้านการคลัง และเงินเฟ้อ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นความยั่งยืนทางการคลังหลังอัตราผลตอบแทน พันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทาน โดยอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และญี่ปุ่น (JGBs) อายุยาวที่ปรับตัวพุ่งขึ้น สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะยืดเยื้อจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษี ภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน และการเร่งตัวของปริมาณเงินในระบบ ทั้งในระยะ 3 เดือน และ 12 เดือนข้างหน้า จึงปรับลดน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ลงสู่ระดับ “Neutral” เนื่องจากคาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว จะยังคงอยู่ในระดับสูง และส่วนต่างอัตราผล ตอบแทนระยะสั้น-ยาว มีแนวโน้มชันขึ้น (steepening yield curve) สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน DBS ยังคงเน้นลงทุนในกลุ่ม คุณภาพระดับ A/BBB และใช้กลยุทธ์ “Duration Barbell”

โดยเน้นลงทุนในตราสารระดับ Investment Grade ที่มีอายุตั้งแต่ 2-3 ปี และ 7-10 ปี กลยุทธ์ Liquid+ อายุ 2-3 ปี ของ DBS ยังคงมีความเหมาะสมในภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง ทั้งด้าน การชะลอตัว และเงินเฟ้อ (stagflation) ขณะที่ตราสารหนี้ High Yield (HY) DBS ยังคงมีมุมมองระมัดระวัง เนื่องจากความเสี่ยงด้านการขยายตัวของส่วนต่าง อัตราผลตอบแทน (credit spread widening)

 

*สินทรัพย์ทางเลือก

ให้น้ำหนัก “Overweight” ทองคำ แนะนำเพิ่ม 5-10% ในพอร์ตลงทุน พร้อมเป้าหมายที่ 3,765 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายในไตรมาส 4/68 ซึ่งทองคำยังคงได้รับประโยชน์ไม่ว่าผลลัพธ์ทางนโยบายของ “ทรัมป์ 2.0” จะออกมาในรูปแบบใด ก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งมาตรการลดภาษี และการผ่อนคลายกฎระเบียบของทรัมป์ จะยิ่งตอกย้ำความกังวล ระยะยาว เรื่องการลดค่าเงินของสหรัฐฯ (monetary debasement) ในอีกด้านหนึ่งมาตรการกีดกันทางการค้า และนโยบายที่คาดเดายากจะกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง และ กระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ

 

*สินทรัพย์นอกตลาด

แนะนำให้นักลงทุนมองหาโอกาสในกลุ่มการเข้าซื้อกิจการ (Buyouts) และ Private Equity ที่มุ่งเน้นบริษัทขนาดกลาง (Middle Market) ซึ่งมักมีระดับราคาซื้อขาย (valuation) ที่ไม่สูงมาก จึงมีช่องว่างในการสร้างมูลค่าในระยะยาวได้มากกว่า อีกทั้งธุรกรรมในกลุ่มนี้มักใช้ภาระหนี้ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับดีลขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง

 

*สกุลเงิน

ทิศทางการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มต่อเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายที่ขัดแย้งของรัฐบาลทรัมป์ โดยสกุลเงินปลอดภัยทางเลือกอื่น ๆ จะเป็นผู้รับประโยชน์หลักในช่วงนี้ ส่วนเงินบาทคาด 32.80 บาท/ดอลลาร์สิ้นปี 68 และในปี 69 จะไปแตะระดับ 32 บาท/ดอลลาร์

 

*เทรนด์ระเบียบโลกใหม่

ในส่วนของ Thematic focus ทาง DBS มองว่าธุรกิจหุ่นยนต์มนุษย์ (humanoids), ระบบอัตโนมัติภาคอุตสาหกรรม (industrial automation) และกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอวกาศ (defence & aerospace) จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์หลักในระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การพึ่งพาตนเองและการปรับฐานการผลิตกลับสู่ภูมิลำเนา (reshoring)

“ความไม่ชัดเจนด้านนโยบาย และการใช้จ่ายภาครัฐอย่างไร้ขีดจำกัดของสหรัฐฯ กำลังเพิ่มระดับความเสี่ยงในสินทรัพย์การเงินทั่วโลก แม้การคลี่คลายความตึงเครียดทางภาษี จะมีแนวโน้มขับเคลื่อนด้วยเหตุผลเชิงปฏิบัติ แต่นักลงทุนควรเตรียมรับมือกับผลตอบแทนที่แตกต่างกันมากขึ้น ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มเทคโนโลยี และบริการมีแนวโน้มเติบโตดีกว่ากลุ่มอื่นๆ กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงของเรา ยังคงให้น้ำหนัก “Overweight” ต่อสินทรัพย์ทางเลือก โดยเฉพาะทองคำและสินทรัพย์นอกตลาดที่สามารถสร้างรายได้ประจำ เพื่อเสริมความแข็งแรงของพอร์ตในยุคที่โลกเริ่มเปลี่ยนผ่าน จากการพึ่งพาสินทรัพย์การเงินของสหรัฐฯ” นายเวย์ ฟุก โหว กล่าว

 

*หุ้นไทย จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง

น.ส.จันทร์เพ็ญ ศิริธนารัตนกุล กรรมการบริหารอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ ของ DBS กล่าวว่า ดัชนี SET มีโอกาสที่จะถูกปรับลดเป้าไปอยู่ในระดับ 1,000 – 1,100 จุด รวมถึงปรับลดจีดีพีเหลือ 1% ในกรณีเลวร้าย ถ้าหากไทยโดนสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่ 36% และปัญหาทางการเมืองไทยบานปลายต่อไป

ขณะที่หากสามารถเจรจาภาษีได้ 18-20% เท่าภูมิภาค คาดว่า SET จะอยู่ที่ 1,300 จุด และจีดีพีโต 1.8% พร้อมคาดว่าคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) อาจปรับลดอักตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ และอีก 1 ครั้งในปี 69

โดยแนะนำหุ้น defensive กลุ่มโรงพยาบาล (PR9, BDMS) กลุ่มสื่อสาร (ADVANC) กลุ่มบริโภคในประเทศ (CPALL, OSP) รวมถึงหุ้นกลุ่มห้างสรรพสินค้า กองทุน REITs และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 68)