
สัปดาห์นี้ไม่มีสินทรัพย์ไหนจะสู้คริปโทเคอร์เรนซีได้แล้วจริง ๆ ทั้งบิทคอยน์ และ อีเธอเรียม เหรียญเล็ก เหรียญใหญ่พุ่งขึ้นทั้งกระดาน รับสถานการณ์จากฝั่งสหรัฐว่าร่างกฎหมายที่ใช้กับ stablecoin จะผ่านหรือไม่? นักลงทุนอย่างเรา ๆ ที่มองอนาคตของคริปโทเคอร์ซีก็พลอยได้อานิสงส์ไปด้วยเต็ม!!
สัปดาห์นี้เหมือนเป็น Crypto week เลยนะคะ เพราะว่าราคาคริปโทฯ หลายตัวพุ่งทะยาน ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin ที่ทำ All Time High อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา แตะ 123,218 ดอลลาร์ ซึ่งถ้าเทียบตั้งแต่ต้นปี บิทคอยน์ ราคาปรับตัวมาแล้ว 25% นับว่าไม่ธรรมดาเลย
ทางฝั่ง Ethereum ก็ไม่น้อยหน้า!! เพราะวันเดียวขึ้นมาเลย 10% โดยช่วงเช้าของวันนี้ ราคา Ethereum อยู่ที่ประมาณ 3,350 ดอลลาร์แล้ว เข้าใกล้ high เดิมไปทุกที
และสำหรับนักลงทุนที่มองว่าราคา BTC ตอนนี้เริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องเสียใจไป ล่าสุดทาง เมอร์เคิล แคปปิตอล จัดสัมมนาพิเศษ “Ethereum Era is Coming คลื่นใหม่มาแรง โอกาสใหม่ใน Ethereum Ecosystem” เปิดมุมมองตลาดคริปโทฯ ไตรมาส 3 บอกเลยว่าสัญญาณบวกมาเต็ม ทั้งฝั่งสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก, ความชัดเจนเรื่องกฎหมายคริปโทฯ และกลยุทธ์ลงทุนของสถาบันใหญ่ ๆ โดยเฉพาะ Ethereum ที่ถูกจับตาว่าอาจขึ้นแท่นผู้นำรอบใหม่ มีลุ้น All-Time High อีกรอบถ้าทุกอย่างเดินตามแผน!
ทาง เมอร์เคิลได้ชี้ถึง Global M2 หรือปริมาณเงินในระบบทั่วโลกพุ่งทะลุ 114 ล้านล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสัมพันธ์กับราคาของ Bitcoin และ Ethereum แบบแทบจะขนานกัน แถม FED ก็มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยอีก ทำให้สภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนตอน DeFi Summer ปี 2021 หรือช่วง ICO ปี 2017
ขณะเดียวกัน การผ่อนคลายทางการเงินจากฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้สภาพคล่องเข้าสู่ระบบมากขึ้นตามวัฏจักรที่เกิดขึ้นทุก ๆ 4–5 ปี โดยจุดสูงสุดก่อนหน้านี้คือปี 2017 (ช่วง ICO) และปี 2021 (ช่วง DeFi Summer) ซึ่งหากวัฏจักรเดินไปตามสถิติที่ผ่านมา คาดว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงพีคของสภาพคล่องอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า!! แว่ว ๆ มาว่า เมอร์เคิลเขามีเปิดกลยุทธ์ใหม่ ชื่อ Dynamic ETH Ecosystem (M-ETHE) ใครที่สนใจก็ไปลองหาข้อมูลกันได้
ทาง BinanceTH ได้มีการทำ Security Survey แล้วพบข้อมูล insight ว่า ผู้ใช้งานกว่า 96% ใช้ 2FA และ 81% ตรวจสอบที่อยู่ผู้รับก่อนโอน
แต่! กว่า 44% เคยพบกับสถานการณ์ crypto scam และ กว่า 30% ยังเก็บ Private Key บนคลาวด์ – อันนี้ถือว่ามีความเสี่ยง!!
ทางด้าน แทนรัก เชียงทอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (BINANCE TH) ได้ออกมาเปิดเผยว่า 32.4% ของผู้ใช้คริปโทฯ ยังเก็บ Private Keys บนคลาวด์ ขณะที่ 96.5% เปิด 2FA แล้ว
โดยสถิติชี้ว่าคนส่วนใหญ่เริ่มใส่ใจเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นถึง 96.5% เปิดใช้ 2FA แล้ว และกว่า 80% ตรวจเช็ก address ก่อนโอนทุกครั้ง แต่ก็ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องระวัง โดยเฉพาะเรื่องการจัดเก็บ Private Keys
แต่ถึงแม้จะมีพัฒนาการที่ดี ก็ยังมีถึง 32.4% หรือ 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานที่เก็บ seed phrase หรือ private key ไว้ในอุปกรณ์ออนไลน์หรือบริการ cloud ซึ่งถือว่าเสี่ยงโดนแฮ็กมาก ๆ BinanceTH จึงย้ำว่า “ความรู้” ยังคงเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญที่สุดในโลกคริปโทฯ โดยเฉพาะในยุคที่ภัยไซเบอร์ซับซ้อนขึ้นทุกวัน ถึงแม้เราจะเริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่เราก็ยังต้องระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรม หรือว่าเก็บรักษาคริปโทฯ
แต่ก็ถือว่ามีข่าวดี เพราะว่ามากกว่า 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามอยากเข้าร่วมกิจกรรมฝึกต้าน scam หรือแบบทดสอบความปลอดภัยแบบ interactive แปลว่าชุมชนคริปโทฯ เริ่มเข้าใจหลักการ Do Your Own Research กันมากขึ้น และพร้อมจะรับมือด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่พึ่งแพลตฟอร์มอย่างเดียว
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยุคใหม่ได้เรียกร้องระบบความปลอดภัยที่ล้ำขึ้น เช่น การสกัดธุรกรรมเสี่ยงแบบ real-time, การแจ้งเตือนทันทีถ้ามีอะไรผิดปกติ และการใช้ไบโอเมตริกซ์แทนรหัสผ่านธรรมดา นี่คือสัญญาณชัดว่าแพลตฟอร์มต้องเปลี่ยน mindset จาก “รอแก้” เป็น “ป้องกันก่อน” ถ้าจะอยู่รอดในยุคที่ทุกคนเริ่มรู้ทันมากขึ้น
เกาะกระแสเที่ยวไทยกันหน่อย เมื่อ ก.ล.ต. จัดใหญ่ เปิดรับฟังความเห็น (Hearing) ต่อโครงการ Sandbox ที่จะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาท ผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และนำไปใช้จ่ายผ่านผู้ให้บริการ e-money เช่น การสแกน QR code เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทย ซึ่งเป็นการต่อยอดจากระบบนิเวศเดิม ทั้งระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) โดยยังคงมีการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม
โครงการนี้ออกแบบมาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น โดยต้องเปิดบัญชีและดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และผู้ประกอบธุรกิจ e-money ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้ Sandbox ซึ่งมีการควบคุมดูแลและป้องกันความเสี่ยงผ่านหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม โดยไม่มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) กับร้านค้า จุดสำคัญก็คือ “ยังไม่ให้ใช้คริปโทฯ จ่ายตรงกับร้านค้า” แต่ใช้เงินบาทที่ได้จากการแลกแทน
ฝั่งผู้ให้บริการที่สนใจเข้าร่วมต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจจากสำนักงาน ก.ล.ต. และมีความพร้อมในการดำเนินการตามรูปแบบ ขอบเขต และหลักเกณฑ์ของ Sandbox โดยต้องสมัครและได้รับความเห็นชอบให้เข้าร่วม Sandbox จาก ก.ล.ต. โดยเฟสแรกจะให้เวลาในการให้บริการไม่เกิน 18 เดือน เพื่อดูความเหมาะสม ปรับเกณฑ์ และวางระบบที่ปลอดภัยก่อนจะขยายผลในอนาคต
และถึงแม้จะเป็น Sandbox แต่ไม่ใช่ว่าใครอยากทำก็ทำได้ ผู้ให้บริการต้อง KYC ผู้ใช้ตามมาตรฐาน ปปง., ตรวจแหล่งที่มาของคริปโทฯ, เชื่อมระบบกับ e-money และรายงานข้อมูลต่อ ก.ล.ต. แบบละเอียด มองเผิน ๆ เหมือนแค่แลกเงิน แต่จริง ๆ แล้วเป็นการวางโครงสร้างใหม่ที่จะทำให้คริปโทฯ “ใช้งานจริง” ได้ในประเทศอย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 68)