พาณิชย์ เตรียมมาตรการช่วยเอกชนรับมือภาษีทรัมป์ ชี้สัญญาณดี เชื่อปิดดีลทัน 1 ส.ค.

นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือเรื่องมาตรการภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ระหว่างทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อคืนที่ผ่านมานั้น (17 ก.ค.) พบว่า สหรัฐฯ พึงพอใจข้อเสนอใหม่จากไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากไทยได้เสนอตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้เปิดตลาดสินค้าสหรัฐฯ ให้เพิ่มขึ้น, ลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ทั้งในส่วนของสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนของธุรกิจในสหรัฐฯ มากขึ้น

โดยหลังจากนี้ สหรัฐฯ จะนำข้อเสนอของไทยไปพิจารณาในรายละเอียด และหากมีอะไรต้องการจากไทยมากขึ้น ก็จะยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมได้อีก และเชื่อว่าการเจรจากับสหรัฐฯ มีโอกาสจะได้ข้อสรุปทันก่อนวันที่ 1 ส.ค. ที่มาตรการภาษีจะเริ่มมีผลบังคับใช้

“เมื่อสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม เราก็ต้องมาพิจารณาอีกว่า อะไรที่รับได้ หรือไม่ได้ จะตอบสนองข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในส่วนการเปิดตลาดที่จะมีผลกับภาคส่วนต่างๆ ของไทย ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม โดยมองว่า การเจรจากับสหรัฐฯมีโอกาสจบทันวันที่ 1 ส.ค.นี้ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายได้คุยกันอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณชี้ว่าเขายังคุยกับไทย แต่เราก็ต้องเร่งพูดคุยกับภาคเอกชนให้จบด้วย โดยเฉพาะในส่วนที่จะได้รับผลกระทบ” รมช.พาณิชย์ ซึ่งได้ร่วมอยู่ในวงเจรจา ระบุ

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมมาตรการไว้ 3 ส่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยเฉพาะ SME กล่าวคือ 1.เร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ลดกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก 2.ปรับปรุงสัดส่วนของมูลค่าที่เกิดจากการผลิตในภูมิภาค (Regional Value Content : RVC) ที่ช่วยคำนวณสัดส่วนการใช้วัตถุดิบได้ง่ายขึ้น และ 3. ช่วยเหลือในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

ส่วนในประเด็นเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าไทย ที่สหรัฐฯ ต้องการให้ใช้วัตถุดิบ/ชิ้นส่วน/ส่วนประกอบ จากไทย ของสหรัฐฯ และของประเทศพันธมิตรให้มากขึ้น เพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ภายใต้กฎเกณฑ์ RVC นั้น ขณะนี้ สหรัฐฯยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบจากส่วนต่างๆ ที่ชัดเจน อยู่ระหว่างการเจรจา

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ทีมเจรจามีความกังวลในเรื่องการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่อาจกระทบต่อประเทศคู่ค้าอื่นของไทย ซึ่งไม่ว่าอัตราภาษีตอบโต้ของไทยจะเป็นเท่าไร ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิต โดยหันมาใช้สินค้าวัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาว

นายฉันทวิชญ์ กล่าวว่า ในการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ไม่อยากให้มองว่าเขาจะได้ประโยชน์จากเราฝ่ายเดียว แต่อยากให้มองว่า เป็นโอกาสที่ไทยจะปรับตัว ปรับโครงสร้างการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 68)