ไทยประณามกัมพูชา กรณีลอบวางทุ่นระเบิดสังหาร ขัดหลักกม.ระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ เรื่องการประท้วงการใช้ทุ่มระเบิดสังหารบุคคลตามที่เมื่อวันที่ 16 ก.ค.68 กำลังพลกองร้อยทหารราบที่ 6021 รวม 3 นาย ซึ่งทำการลาดตระเวนตามปกติในดินแดนของไทย บริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี ประสบเหตุเหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคล นั้น

รัฐบาลไทยได้รับรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงว่า ภายหลังการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ทุ่นระเบิดที่พบ ไม่มีการใช้ หรือมีอยู่ในคลังอาวุธของไทย และเป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่ เมื่อประกอบกับการประมวลข้อมูล และหลักฐานสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่หน่วยงานความมั่นคงตรวจพบ นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่าเป็นการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

รัฐบาลไทย ขอประณามอย่างรุนแรงที่สุดต่อการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย และเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างชัดเจน

ไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาฯ จะดำเนินการตามกระบวนการภายใต้อนุสัญญาฯ โดยจะยังคงหาทางแก้ปัญหากับกัมพูชาผ่านกลไกทวิภาคีต่าง ๆ ที่มีอยู่ และขอเรียกร้องฝ่ายกัมพูชาให้ความร่วมมือในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด เพื่อมนุษยธรรมตามแนวชายแดน ตามที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันภายในกรอบทวิภาคี

*ศทช. จี้กัมพูชารับผิดชอบ-สอบสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) กองบัญชาการกองทัพไทย ออกแถลงการณ์ประณามเหตุกัมพูชาลักลอบวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่อธิบไตยไทย ส่งผลให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 3 นาย โดย 1 ในนี้บาดเจ็บถึงขั้นสูญเสียอวัยวะและกลายเป็นผู้พิการถาวร

ทั้งนี้ ศูนย์ปฎิบัติการฯ ขอแสดงการคัดค้านอย่างเด็ดขาด ต่อการกระทำใด ๆ ที่อาจถือเป็นการละเมิดพันธกรณี และบรรทัดฐานของอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Ban Treaty หรือ Ottawa Convention) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าทั้งไทยและกัมพูชา ต่างเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ และต่างให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างครบถ้วน อันรวมถึงการยุติการใช้ และสะสมทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ตลอดจนการเก็บกู้และทำลายทุนระเบิดที่ยังตกค้างภายในประเทศ เพื่อประโยชน์และความปลอดภยของประชาชนโดยรวมในระยะยาว

“ขอเรียกร้องให้กัมพูชา แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม สอบสวนข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน รวมถึงดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้อีกในอนาคต” แถลงการณ์ ระบุ

นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฯ ขอเรียกร้องให้กัมพูชา หยุดขัดขวางการปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทยตามแนวชายแดน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และความมั่นคงต่อประชาชนสองประเทศ ตลอดจนเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 68)