
บล.เอเซีย พลัส (ASPS) ให้เป้าหมายดัชนี SET ปลายปี 68 ที่ระดับ 1,376 จุด จากคาดการณ์ EPS ในระดับ 86 บาทต่อหุ้น พร้อมชี้ปัจจัยบวกหลายด้านจะหนุนตลาดฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร ASPS มองว่า ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากนโยบายการคลังที่น่าจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาตามหลังการเบิกจ่ายงบประจำปี 69 รวมทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง นอกจากนี้ แนวโน้ม EPS ครึ่งปีหลังยังมีอัพไซด์จาก บมจ.การบินไทย [THAI] กลับเข้าเทรด และบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย [SCC] ที่มีธุรกรรมขนาดใหญ่จากการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ หนุน EPS ปีนี้ทะลุ 90 บาทต่อหุ้นไปได้
ขณะที่ล่าสุดนายวิทัย รัตนากร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งมองว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯคนใหม่ หรือคนก่อนหน้า หากประเมินจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็จะเห็นว่ามีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ส่วนหนึ่งถูกสะท้อนผ่านตลาดไปแล้วจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลง และเงินบาทค่อนข้างแข็งค่า ประกอบการเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพลดลง ยิ่งหากไทยถูกเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐในอัตราสูง จะกระทบภาคการส่งออกชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
“ตอนนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลดดอกเบี้ย เพราะว่าสภาพแวดล้อมเป็นตัวเอื้อ ยังมีรูมมากพอในการขยับลดดอกเบี้ยได้ มองโอกาสลดได้อาจจะ 1-2 ครั้งในปีนี้…ซึ่งหากลดดอกเบี้ย ทุก ๆ 0.25% อาจเป็น Upside ตลาดได้ประมาณ 70 จุด”นายเทิดศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามหลายปัจจัยเสี่ยง หลังจากครึ่งปีแรก SET ร่วงลงไปถึง 23% จาก 4 ปัจจัย คือ
1. สงครามตะวันออกกลาง ปัจจุบันสงบลงชั่วคราว กระทบน้อยลง
2. ข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ลดระดับเหลือแค่ “สงครามโซเชียล”
3. การเมืองในประเทศ ไม่น่ากระทบงบประมาณ 2569
4. ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ตลาดซึมซับประเด็นด้านลบไปมากแล้ว
นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ตลาดรอความชัดเจนระยะถัดไปว่าข้อสรุปสุดท้ายแต่ละประเทศถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าไร หากไทยถูกเก็บสูงกว่าประเทศอื่น ๆ อาจเกิด Technical recession ได้ จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินและการคลัง เพื่อพยุงเศรษฐกิจ
ขณะที่ผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนหากประเมินจากหุ้น 4 กลุ่มหลักที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ กลุ่มเกษตร อาหาร ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาจกระทบรายได้รวมราว 3.1% และกำไรรวม 1.1% ถือว่าไม่มาก ดังนั้นความกังวลว่าจะกดดันหุ้นไทยลงไปถึง 1,056 จุด น่าจะผ่านไปแล้ว และไม่น่าจะทำจุดต่ำสุดใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็อาจกระทบในแง่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หากไทยเผชิญอัตราภาษีสูงกว่าประเทศใกล้เคียง
“มองว่าถ้าเรายังยืน 36% ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 20% อินโดนีเซียอยู่ที่ 19% เราอยู่ในเชิงที่ค่อนข้างเสียเปรียบโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ จะไหลเข้ามายากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ไม่ใช่ฉับพลันทันที เรายังมีเม็ดเงินจาก BOI ที่คงค้างในระบบค่อนข้างมาก เชื่อว่าน่าจะเห็นการลงทุนต่อในอีกสักระยะหนึ่ง”
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย กล่าวว่า แนวโน้มกำไร บจ.ไตรมาส 2/68 คาดทรงตัว QoQ อยู่ที่เฉลี่ย 2.62 แสนล้านบาทต่อไตรมาส และประเมินกำไรทั้งปีที่ 1.06 ล้านล้านบาท หรือ 86 บาท/หุ้น (เติบโต 17%YOY) มีโอกาสเป็นไปได้ และถือว่า Conservative กว่า BLOOMBERG CONSENSUS ส่วน Sector ที่กำไรเติบโตต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ถึง 3 มักจะปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงไตรมาสที่ 3 อาทิ กลุ่ม ETRON, HELTH, PROP, TRANS เป็นต้น
ในแง่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากครึ่งปีแรกไหลออกจากภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมาก แต่หุ้นไทยร่วงหนักกว่าภูมิภาค เนื่องจากมีแรงขายจากกองทุน LTF ที่คงค้างในระบบเสริมไปด้วย รวมทั้งสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยลดน้อยลงจากประเด็นความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยที่หายไป แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังแนวโน้มจะดีขึ้น ไตรมาส 3/68 คาดหวังว่าแรงขายจากนักลงทุนสถาบัน-ต่างชาติจะเบาลงตามยอดเม็ดกองทุน LTF ที่อยู่เพียง 1.17 แสนล้านบาท
รวมทั้งหลายบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนเป็นสัญญาณเรียกความเชื่อมั่น ขณะเดียวกัน แรงกดดัน Margin Call คลี่คลายเนื่องจากยอดคงค้าง Margin ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด สะท้อนว่าแรงกดดันจาก Force Sell จะน้อยลง นอกจากนี้การที่หุ้นไทยกลับมาให้ผลตอบแทนดีสุดในโลกรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสที่ MSCI และ FTSE จะปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในการทบทวนรอบเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากกองทุนต่างชาติให้ไหลกลับเข้ามา
ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินเป้าหมาย SET ปลายปี 68 แบบอนุรักษ์นิยมภายใต้ EPS ที่ 86 บาทต่อหุ้น, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% อิง MEYG 4.50% (+1 SD) ได้เป้าหมายที่ 1,376 จุด มีอัพไซด์จากระดับปัจจุบันในช่วง 1,140-1,170 จุดพอสมควร กลยุทธ์การลงทุน แนะนำกระจายหลายอุตสาหกรรม และมี High Dividend Yield หรือ Profit Growth 68 เติบโต อย่าง PTT, SCC, CPALL, BDMS, TRUE, PLANB
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 68)