
เหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ จะกลับมามีผลเต็มรูปแบบในวันที่ 9 ก.ค. หลังครบกำหนดช่วงผ่อนปรน 90 วัน ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้โอกาสประเทศคู่ค้าเปิดโต๊ะเจรจา แต่ความคืบหน้าของการเจรจาการค้ายังคงดำเนินไปอย่างล่าช้า โดยมีเพียง 2 ประเทศที่สามารถบรรลุข้อตกลง บางประเทศยังเจรจาไม่แล้วเสร็จ ขณะที่บางประเทศเพิ่งเริ่มต้น เช่น ไทย และบางประเทศยังไม่ได้เข้าสู่โต๊ะเจรจา
In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านไปสำรวจความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าหลัก ๆ รวมถึงประเทศในเอเชีย พร้อมวิเคราะห์ช่วงโค้งสุดท้ายของดีลต่าง ๆ ซึ่งอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนระบบการค้าเสรีและเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก
*ทรัมป์ย้ำชัดไม่ขยายเส้นตายภาษี
ทรัมป์ยืนยันว่า เขาไม่มีแผนที่จะขยายระยะเวลาผ่อนผันภาษีศุลกากรตอบโต้กับประเทศคู่ค้าเกินเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. โดยสหรัฐฯ จะส่งจดหมายแจ้งไปยังประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บกับประเทศนั้น ๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ เว้นแต่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้
เมื่อเดือนเม.ย. ทรัมป์ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ในวงกว้างต่อประเทศและดินแดนทั่วโลกกว่า 180 แห่ง ก่อนที่จะผ่อนปรนเหลือเพียงการเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) ในอัตรา 10% เป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อเปิดทางให้ประเทศต่าง ๆ เจรจาข้อตกลงทางการค้าเพื่อแก้ไขปัญหาที่สหรัฐฯ มองว่าถูกประเทศคู่ค้าเอาเปรียบ
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยอมรับว่าการทำข้อตกลงแบบรายประเทศในระยะเวลาจำกัดนั้นเป็นเรื่องยาก จากเดิมที่รัฐบาลตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับ 90 ประเทศภายในเวลา 90 วัน
*คาดปิดดีล 12 ประเทศก่อนเส้นตาย
ที่ปรึกษาระดับสูงของทรัมป์เผยว่า สหรัฐฯ มีโอกาสบรรลุข้อตกลงการค้ากับคู่ค้ารายสำคัญมากถึง 12 ประเทศ ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. ขณะที่สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับคู่ค้าสำคัญ 18 ประเทศ และคาดว่าหากสามารถปิดดีลกับ 10-12 ประเทศได้ กระบวนการเจรจาทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นก่อนวันแรงงานหรือต้นเดือนก.ย.นี้
จนถึงตอนนี้ มีเพียงอังกฤษและจีนที่บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ขณะที่ข้อตกลงกับประเทศอื่นยังอยู่ระหว่างการหารือ
*ดีลการค้าสหรัฐฯ เสี่ยงเป็นแค่กรอบเบื้องต้น
แม้รัฐบาลทรัมป์จะยกย่องความสำเร็จของข้อตกลงกับจีนและอังกฤษ แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยแสดงความกังวลว่า ข้อตกลงเหล่านี้อาจยังไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาที่ทรัมป์เคยกล่าวไว้
นักวิเคราะห์ด้านการค้าประเมินว่า ข้อตกลงอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาอาจลงเอยในลักษณะที่คล้ายกัน คือเป็นเพียงกรอบความร่วมมือเบื้องต้น ซึ่งยังต้องอาศัยการเจรจาเพิ่มเติมอีกหลายรอบในอนาคต เนื่องจากกระบวนการเจรจาโดยทั่วไปต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ข้อสรุป
ทิม เมเยอร์ อาจารย์ด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ให้ความเห็นว่า ทำเนียบขาวน่าจะประกาศกรอบเจรจาหลายฉบับในนามของข้อตกลงทางการค้า แม้จะยังไม่ตรงกับนิยามของคำว่า “ข้อตกลง” ตามความเข้าใจทั่วไปก็ตาม
*แม้ปิดดีล อาจยังต้องเจอภาษีบางรายการ
แม้หลายประเทศจะเร่งเจรจาทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีตอบโต้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่า ภาษีนำเข้าบางรายการจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป ไม่ว่าจะสามารถปิดดีลได้หรือไม่ก็ตาม เช่น ภาษีพื้นฐาน 10% ที่ทรัมป์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 เม.ย., ภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% และภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ 25% ยังไม่นับรวมถึงภาษีชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น ยา ไม้แปรรูป ทองแดง และชิปคอมพิวเตอร์
ภาษีเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออก เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่อุตสาหกรรมยานยนต์และเหล็กกำลังแบกรับภาระภาษีอย่างหนัก และอาจยังเผชิญอัตราภาษีสูงต่อไป หากสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานไม่ปรับลดอัตราเหล่านี้
*อังกฤษคว้าดีลแรก ลดภาษีนำเข้า-ยานยนต์
อังกฤษกลายเป็นชาติแรกในโลกที่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้สำเร็จเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยสินค้าจากอังกฤษที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีในอัตราพื้นฐานที่ 10% ส่วนภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากอังกฤษลดลงจากระดับ 25% สู่ระดับ 10% สำหรับโควต้ารถยนต์ 100,000 คันแรกต่อปี ส่วนที่เกินจากจำนวนนี้ จะถูกเก็บภาษีในอัตรา 25%
ข้อตกลงนี้ยังครอบคลุมการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าด้านการบินและอวกาศ เช่น เครื่องยนต์และชิ้นส่วนเครื่องบิน ซึ่งจะลดลงเหลือ 0% โดยปัจจุบัน ทั้งสองประเทศยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลดภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากอังกฤษจาก 25% เหลือ 0% และอังกฤษจะเป็นประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิพิเศษให้เสียภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 25% ขณะที่ประเทศคู่ค้าอื่นเสียในอัตรา 50%
*จีน-สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงเบื้องต้น ลดภาษีตอบโต้
สหรัฐฯ และจีน จัดการหารือครั้งแรกในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. โดยบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้อัตราภาษีของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีน ลดลงสู่ระดับ 30% จากเดิมที่ระดับ 145% ขณะที่อัตราภาษีที่จีนเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับ 10% จากเดิมที่ระดับ 125%
ต่อมาในเดือนมิ.ย. ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุฉันทามติด้านการค้าหลังเสร็จสิ้นการเจรจาระดับสูงเป็นเวลาสองวันที่กรุงลอนดอน โดยมีเป้าหมายที่จะยุติข้อพิพาททางการค้า และแก้ไขข้อจำกัดด้านการส่งออกแร่หายากและแม่เหล็กของจีน
ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายยังคงเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับครอบคลุมต่อไป โดยกำหนดเดดไลน์ในการบรรลุข้อตกลงฉบับใหญ่ภายในเดือนส.ค.
*EU เริ่มอ่อนท่าที หวั่นโดนรีดภาษี 50%
สำหรับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 2.356 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2567 แสดงท่าทีพร้อมยอมรับข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่รวมถึงการเก็บภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าส่งออกหลายรายการจากฝั่งยุโรป
อุปสรรคหลักของผู้นำ EU และคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) คือการตัดสินใจว่าจะยอมรับข้อตกลงที่ไม่สมดุลและอาจเอื้อประโยชน์ฝ่ายเดียวให้กับสหรัฐฯ หรือไม่ แต่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงก่อนเส้นตาย ภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU เกือบทั้งหมดที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 50%
ในการประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางเจรจาแบบประนีประนอมเพื่อบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ โดยเร็ว ดีกว่าการยืนกรานรอข้อตกลงที่สมบูรณ์แบบ แม้อาจต้องยอมปล่อยให้ภาษีบางรายการของสหรัฐฯ ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป
*ญี่ปุ่นติดขัดภาษียานยนต์ ทรัมป์ขู่รีดภาษีเพิ่ม
แม้สหรัฐฯ และญี่ปุ่นหารือกันมาแล้ว 7 รอบ แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในประเด็นภาษีนำเข้ารถยนต์และเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่น
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นในอัตรา 25% จากเดิม 2.5% และภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 50% เนื่องจากทรัมป์มองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี ทรัมป์ยืนกรานไม่ประนีประนอมแผนเก็บภาษีรถยนต์ญี่ปุ่น พร้อมเสนอให้ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันและข้าวมากขึ้น รวมถึงสินค้าประเภทอื่น ๆ และขู่ปรับขึ้นภาษีตอบโต้เพิ่มขึ้นเป็น 30%–35% จากเดิมเพียง 24% หากยังไม่สามารถตกลงกันได้
*เกาหลีใต้ขอขยายเวลาเจรจา
รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมยื่นขอขยายเวลาระงับการเก็บภาษีของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ค. เพื่อสานต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศ เนื่องจากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในกรอบเวลาเดิม
จนถึงขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในระดับเทคนิคแล้ว 3 รอบ โดยตกลงร่วมกันว่าจะจัดทำข้อตกลงแบบแพ็กเกจ ครอบคลุมหกประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความไม่สมดุลทางการค้า มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การค้าดิจิทัล กฎแหล่งกำเนิดสินค้า และประเด็นด้านการพาณิชย์
อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องภาษีแล้ว ภาระค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงยังเป็นอีกประเด็นที่ทรัมป์ให้ความสนใจ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับกองกำลังสหรัฐฯ จำนวน 28,500 นายที่ประจำการอยู่ในเกาหลีใต้
*แคนาดายอมถอยภาษีดิจิทัล
การเจรจาระหว่างแคนาดากับสหรัฐฯ เกือบต้องยุติลง หลังทรัมป์ประกาศว่าจะยุติการเจรจาการค้าทั้งหมดกับแคนาดา เนื่องจากแคนาดาเรียกเก็บภาษีบริการดิจิทัลจากบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ พร้อมขู่ว่าจะกำหนดภาษีใหม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มมีผลในวันที่ 1 ก.ค. แคนาดาได้ประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวซะก่อน ทำให้บริษัทอย่าง Amazon, Google และ Meta ไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 3% จากรายได้ที่ได้รับจากผู้ใช้งานในแคนาดา
เควิน แฮสเซตต์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติประจำทำเนียบขาว เผยว่า สหรัฐฯ จะกลับมาเจรจาการค้ากับแคนาดาโดยทันทีหลังจากที่แคนาดาประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าว สอดคล้องกับกระทรวงการคลังแคนาดาที่แถลงว่า ทรัมป์ และมาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา เตรียมกลับมาเปิดการเจรจาการค้าอีกครั้ง เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในวันที่ 21 ก.ค.
*อินเดียใกล้บรรลุข้อตกลง
ทรัมป์เปิดเผยว่า การเจรจากับอินเดียใกล้จะบรรลุข้อตกลงแล้ว ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยเปิดทางให้บริษัทอเมริกันเข้าสู่ตลาดอินเดียได้ง่ายขึ้น และทำให้อินเดียรอดพ้นจากอัตราภาษี 26%
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากทำเนียบขาวยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลทรัมป์จะให้ความสำคัญกับการเจรจาข้อตกลงกับอินเดียเป็นลำดับต้น ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเจรจา
ก่อนหน้านี้ การเจรจาการค้าระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ชะงักงัน หลังติดหล่มข้อขัดแย้งเรื่องภาษีนำเข้าสินค้าหลักหลายรายการ โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็ก และสินค้าเกษตร
*ไต้หวันเจรจาคืบหน้า TSMC ลงทุนใหญ่ในสหรัฐฯ
รัฐบาลไต้หวันเปิดเผยว่า การเจรจากับรอบที่สองกับสหรัฐฯ มีความคืบหน้าอย่างสร้างสรรค์ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นภาษีศุลกากร อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี และความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ดี ก่อนที่ทรัมป์จะประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศคู่ค้า บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง (TSMC) ของไต้หวันได้ประกาศแผนลงทุนกว่า 1.65 แสนล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปขั้นสูง 6 แห่ง โรงงานบรรจุภัณฑ์ 2 แห่ง และศูนย์วิจัยในแอริโซนา ซึ่งถือเป็นสัญญาณความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสองฝ่าย และคาดว่าจะสร้างงานหลายพันตำแหน่ง
*เวียดนามเร่งแก้ปัญหาแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า
เวียดนามเป็นชาติแรกในอาเซียนที่เปิดเจรจาลดภาษีกับสหรัฐฯ หลังถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 46% และมียอดเกินดุลการค้ากว่า 1.23 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2567
นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทจากตะวันตกที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และถูกมองว่าอาจถูกใช้เป็นทางผ่านของสินค้าจีนเพื่อหลบเลี่ยงภาษี
ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามจึงเร่งดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ เช่น ลดภาษีสินค้าหลายรายการที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ สกัดกั้นการขนส่งสินค้าจีนไปยังสหรัฐฯ โดยใช้เวียดนามเป็นทางผ่าน และเพิ่มการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ
*มาเลเซียเจรจา 4 ประเด็นหลัก
มาเลเซียจัดการเจรจากับสหรัฐฯ หลังถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 24% โดยแสดงความพร้อมหารือใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การลดความไม่สมดุลทางการค้า การแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร การคุ้มครองเทคโนโลยีและความมั่นคง และการสำรวจแนวทางจัดทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีในอนาคต
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของมาเลเซียมาตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2567 มูลค่าการค้าทวิภาคีอยู่ที่ 8.02 หมื่นล้านดอลลาร์ และสหรัฐฯ มียอดขาดดุลการค้ากับมาเลเซียมากถึง 2.48 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
*กัมพูชายินดีลดภาษี 19 รายการ
กัมพูชาเป็นอีกประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 49% ส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาโดยสภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) และกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าเปิดเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แล้วทั้งหมด 3 รอบ เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว
ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และอยู่ระหว่างพิจารณาร่างข้อตกลงการค้าต่างตอบแทน (Agreement on Reciprocal Trade – ART)
ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชามุ่งส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเสนอปรับลดภาษีนำเข้าสินค้า 19 ประเภทจากอัตราสูงสุด 35% เหลือเพียง 5% เพื่อแสดงเจตนารมณ์เชิงบวกในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี
*ไทยชูแนวทาง Win–Win ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
ปิดท้ายด้วยไทย ซึ่งยังคงแสดงท่าทีเชิงบวกในการเจรจากับสหรัฐฯ แม้จะถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้สูงถึง 36% โดยที่ผ่านมาไทยได้ยื่นข้อเสนอหลายครั้ง และได้รับสัญญาณตอบรับที่ดีจากฝั่งสหรัฐฯ
แนวทางการเจรจาของไทยยึดหลักการเจรจาแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (Win-Win) โดยพิจารณาทั้งข้อกังวลของสหรัฐฯ และผลประโยชน์ของไทย และความจำเป็นของไทย ตามกรอบ 5 เสาหลัก ได้แก่ 1. ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-สหรัฐฯ 2. การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 3. การเปิดตลาดสาขาเกษตรของไทย 4. การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า และ 5. การส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้นำคณะผู้แทนทีมไทยเพื่อหารือกับนายเจมิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในวันที่ 3 ก.ค. เวลา 21.00 น. ตามเวลาไทย
…เมื่อเส้นตายภาษี 9 ก.ค. ใกล้เข้ามาทุกขณะ คำถามสำคัญที่ประชาคมโลกกำลังเฝ้าดูคือ จะมีประเทศใดบ้างที่สามารถปิดดีลกับสหรัฐฯ ได้ทันเวลา และประเทศใดจะต้องเผชิญแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนสมดุลการค้าโลกไปอีกนาน ส่วนผลกระทบที่จะตามมารุนแรงเพียงใด คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ค. 68)