SET ร่วงไปแล้ว 22% ตั้งแต่ต้นปีเจอพิษปัจจัยใน-นอกประเทศ นักวิเคราะห์ชี้ “Stay Invest” คือทางรอด

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่าตลาดหุ้นโลกได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางในระยะสั้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อีกทั้งผู้ลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับความคืบหน้าของการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ หลังประกาศข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับเวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศแรกใน ASEAN ที่บรรลุข้อตกลงในการลดกำแพงภาษี

นอกจากปัจจัยภายนอกในเดือนมิถุนายนแล้วผู้ลงทุนไทยยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศที่กำลังเข้าสู่ช่วงที่ความไม่แน่นอนสูงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง สว. ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และมีมติสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

โดยเฉพาะผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้ในวันที่ 23-25 มิ.ย. ตลท.ได้มีการใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อรองรับความผันผวนที่อาจก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของภูมิภาคและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยปรับกรอบราคา Dynamic Price Band รายหลักทรัพย์จากราคาซื้อขายล่าสุดในตลาด SET และ mai จากเดิม +/-10 เป็น +/-5% และปรับ Ceiling/Floor จาก +/-30% เป็น +/-15% รวมถึงตลาด TFEX ที่ปรับ Ceiling/Floor สำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงหุ้น จาก +/-30% เป็น +/-15% เช่นกัน

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท.เปิดเผยว่า ข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าแม้จะเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์หรือการประกาศสงคราม ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วมักเผชิญกับความผันผวนเพียงระยะสั้น ก่อนจะฟื้นตัวและกลับมาให้ผลตอบแทนในทิศทางบวกได้ภายในเวลาไม่นาน

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในลักษณะเดียวกันตลอดเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักแนะนำว่าการรักษาวินัยการลงทุนและเดินหน้าตามกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง หรือ “Stay Invest” จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไม่พลาดโอกาสสำคัญ หากดัชนีตลาดสามารถพลิกกลับขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะถัดไป

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากภาคการผลิตและการเร่งส่งออกสินค้า ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่หลังจากวันสุดท้ายที่มีการเปิดขายกองทุนรวม Thai ESGX มี Fund Flow ของผู้ลงทุนเข้ามาอยู่ในกรอบกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงหุ้นไทยในช่วงความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางแผนสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในหลายมิติผ่านโครงการ “JUMP+” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย

นายศรพล กล่าวว่า ตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วงติดตามการเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยมองว่าการที่สหรัฐฯ อาจจะเลื่อนเส้นตายออกไปจากวันที่ 9 ก.ค. ไปเป็นวันที่ 1 ส.ค. เป็นปัจจัยเชิงบวก ซึ่งอาจจะเป็นการเลื่อนเพื่อเจรจากับประเทศที่ยังไม่มีมติอยู่จำนวนมาก ถึงแม้จะตลาดมีความกังวลถึงเรื่องความไม่แน่นอนหรือความผันผวนที่อาจเป็นผลตามมา แต่นายศรพลมองว่ารัฐบาลได้เริ่มเห็นตัวอย่างผลสรุปของประเทศที่เจรจาผ่านเรียบร้อยแล้ว อาทิ เวียดนาม ทำให้การตกลงเงื่อนไขน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ทางตลท.ก็มีมาตรการรองรับความผันผวนชั่วคราว ถ้าหากมีปัจจัยไม่คาดคิดที่จะส่งผลกระทบต่อตลาด เช่นเคย

ส่วนงข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาที่นักลงทุนมีความกังวลในช่วงเดือน มิ.ย. เนื่องจากกัมพูชาจะมีความเชื่อมโยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการค้าชายแดน การจ้างแรงงาน และการลงทุนอุตสาหกรรมบางกลุ่ม แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้และมูลค่าการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนไทย พบว่ายังอยู่ในระดับค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับภาพรวม จากมูลค่าการส่งสินค้าไปกัมพูชาเพียง 3%

สรุปภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยเดือนมิถุนายน 2568

  • 30 มิถุนายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,089.56 จุด ปรับลดลง 5.2% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2568 ปรับลดลง 22.2%
  • มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 39,663 ล้านบาท หรือลดลง 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมอยู่ที่ 41,856 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • เดือนมิถุนายน 2568 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. นูทริชั่น โปรเฟส (NUT)
  • Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 11.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.3 เท่า
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 4.51% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.30%

ด้านภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนมิถุนายน 2568 ณ 30 มิถุนายน 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 442,877 สัญญา เพิ่มขึ้น 24.1% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures โดยตลอดปี 2568 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 438,459 สัญญา ลดลง 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของ Single Stock Futures และ Gold Online Futures

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 68)