
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้ากดดันประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าอัตราใหม่กับ 14 ประเทศ รวมถึงไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. แม้ว่าเขาส่งสัญญาณว่าจะยังคงเปิดกว้างในการเจรจาการค้าเพิ่มเติมก็ตาม
ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความบนทรูธ โซเชียลในวันจันทร์ (7 ก.ค.) โดยเขาได้แชร์ภาพจดหมายซึ่งระบุถึงอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่ส่งถึงผู้นำของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย คาซัคสถาน แอฟริกาใต้ ลาว และเมียนมา ต่อมาในวันเดียวกัน เขาได้แชร์ภาพจดหมายอีก 7 ฉบับที่ส่งถึงผู้นำของประเทศไทย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ตูนิเซีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เซอร์เบีย และกัมพูชา
* ใครโดนบ้าง
จดหมายที่ทรัมป์โพสต์บนทรูธโซเชียลระบุว่า สินค้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย คาซัคสถาน และตูนิเซีย ที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 25% ขณะที่สินค้าจากแอฟริกาใต้และบอสเนียจะถูกเก็บภาษีนำเข้า 30% และสินค้านำเข้าจากอินโดนีเซียจะถูกเรียกเก็บภาษี 32%
นอกจากนี้ จดหมายของทรัมป์ระบุว่า บังกลาเทศและเซอร์เบียจะถูกเก็บภาษี 35% ขณะที่กัมพูชาและไทยจะถูกเรียกเก็บภาษี 36% ส่วนลาวและเมียนมาจะถูกเก็บภาษี 40%
เนื้อหาในจดหมายของทรัมป์ระบุว่า อัตราภาษีใหม่นี้มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับทั้ง 14 ประเทศ ขณะเดียวกันจดหมายที่ปธน.ทรัมป์ลงนามยังระบุเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ “อาจจะ” พิจารณาปรับระดับภาษีใหม่ “โดยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเรากับประเทศของคุณ”
อัตราภาษีที่มีการประกาศครั้งใหม่สะท้อนให้เห็นว่า ลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยถูกเก็บภาษีสูงที่สุดถึง 40% ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในเอเชีย ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 1% เป็น 25% จากเดิม 24% ขณะที่เกาหลีใต้ซึ่งเป็นชาติพันธบัตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เช่นกัน ยังถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% แม้จะไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย.
*ทำไมประเทศในเอเชียถึงโดนหนัก
ทรัมป์อ้างว่าประเทศในเอเชียมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จำนวนมากและถือเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือประเทศเอเชียมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงกว่ามูลค่าการนำเข้า จึงควรถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายกลับมองว่า ทรัมป์อาจมีเป้าหมายแฝงทางการเมืองในการกดดันจีนทางอ้อม ผ่านการเล่นงานประเทศที่มีการลงทุนจากจีนจำนวนมาก
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งคิดเป็น 7.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลกในปี 2567 นั้น เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า ซึ่งหมายความว่ามาตรการภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตในภูมิภาค แต่ยังสะเทือนถึงผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่อาจต้องเผชิญราคาสินค้าที่สูงขึ้นตามไปด้วย
* “ทรัมป์” ส่งจดหมายถึง “ไทย” เปิดประตูให้ต่อรองภาษี
ทรัมป์ส่งจดหมายถึงประเทศไทย เพื่อแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากร ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตรา 36% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป พร้อมระบุด้วยว่า อัตราภาษีที่ 36% นี้ยังน้อยกว่าที่จำเป็นในการขจัดความไม่สมดุลทางการค้าทั้งหมดกับไทย
จดหมายของทรัมป์ที่ส่งถึงไทย ยังพ่วงคำขู่ว่า หากไทยตัดสินใจที่จะขึ้นภาษีนำเข้าไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยปรับขึ้นนั้นจะถูกรวมเข้าไปในอัตรา 36% ที่สหรัฐเรียกเก็บ โดยอ้างว่าภาษีเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากนโยบายภาษี มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และกำแพงการค้าต่าง ๆ ของไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา การขาดดุลนี้ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยิ่งไปกว่านั้นคือความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วย
อย่างไรก็ดี ปธน.ทรัมป์ยังเปิดทางให้กับไทย โดยระบุว่าสหรัฐฯ จะไม่เรียกเก็บภาษีหากบริษัทไทยเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ และแสดงความคาดหวังว่าประเทศไทยจะเปิดตลาดการค้าให้แก่สหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางการค้าที่สมดุลและเป็นธรรมกว่าเดิม
* นี่แค่จดหมายชุดแรก อีกหลายประเทศที่เหลือกำลังทยอยถูกเช็คบิล
จดหมายที่ทรัมป์ส่งตรงถึงผู้นำ 14 ประเทศในวันจันทร์นั้น เป็นจุดหมายชุดแรกที่รัฐบาลทรัมป์ส่งให้กับประเทศคู่ค้าก่อนวันพุธที่ 9 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่สหรัฐฯ จะกลับมาใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อีกครั้งหลังจากมีการผ่อนผันเป็นเวลา 90 วัน
แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษทำเนียบขาวกล่าวว่า จะมีจดหมายส่งออกไปอีกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า พร้อมกับกล่าวว่า ปธน.ทรัมป์จะลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อเลื่อนกำหนดเส้นตายวันพุธที่ 9 ก.ค. ออกไปเป็นวันที่ 1 ส.ค.
*เตือนล่วงหน้าไม่นาน ก่อนประกาศฟ้าผ่า
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทรัมป์ได้แจ้งกับให้บรรดาซัพพลายเออร์รายใหญ่อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีก 12 ประเทศรู้ตัวก่อนแล้วว่าประเทศเหล่านี้จะต้องเผชิญกับภาษีอย่างน้อย 25% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เว้นแต่จะสามารถเจรจาข้อตกลงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ทรัมป์ยังขู่ว่าจะปรับขึ้นภาษี หากประเทศใดตอบโต้ หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีโดยการส่งสินค้าผ่านประเทศอื่น ๆ
หลังจากส่งสัญญาณเตือนดังกล่าว ทรัมป์ไม่ปล่อยให้หลายประเทศต้องคาดเดาเป็นเวลานานถึงผลลัพธ์ เขาได้ตัดสินใจใช้วันจันทร์ที่ 7 ก.ค.เป็นวันดีเดย์ในการประกาศอัตราภาษีของ 14 ประเทศรวมถึงประเทศไทย แถมโพสต์โซเชียลโชว์จดหมายที่ส่งตรงถึงประเทศเหล่านี้อย่างเปิดเผย ท่าทีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประธานาธิบดีของชาติมหาอำนาจรายนี้เป็นคนคิดเร็วทำเร็วและยากแก่การคาดเดา
*จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีประเทศอื่นได้รับแจ้งเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพิ่มเติม พร้อมระบุว่า แม้บางประเทศจะใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว แต่ทรัมป์ยังต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างล่าช้า สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าเคยเตือนว่า การเจรจาทางการค้านั้นมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 68)