PODCAST: Weekly Highlight ทั่วโลกติดโควิดทะลุ 1.2 ล้านราย จับตาโอเปกถกเสถียรภาพราคาน้ำมัน

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (7-10 เม.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7 เมษายน 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (30 มี.ค.-3 เม.ย.) SET INDEX ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.6% เช่นเดียวกับดัชนี SET 100 เพิ่มขึ้น 3.8% โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นถึง 20.1% กลุ่มพลังงาน เพิ่มขึ้น 10.7% และกลุ่มมีเดีย เพิ่มขึ้น 3.8%

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนดัชนีตลาดหุ้นไทยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวได้บ้าง จากที่เคยปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดรอบนี้ที่ระดับ 969 จุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม แม้ว่านักลงทุนจะระวังความเสี่ยงของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่อาจเร่งจำนวนเพิ่มขึ้น แต่นโยบายของรัฐบาลหลายประเทศที่ทยอยออกมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 และมาตรการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น ก็ช่วยให้นักลงทุนส่วนใหญ่ผ่อนคลายได้ในระดับหนึ่ง

ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐและอีกหลายประเทศในยุโรป

ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เม.ย.พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 1.2 ล้านราย แม้ว่าประเทศสหรัฐยังคงติดอันหนึ่งมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลกเป็นจำนวนมากกว่า 300,000 ราย แต่ล่าสุดพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว อาจช่วยให้นักลงทุนคลายกังวลได้ในช่วงสั้น

ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ รายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ว่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,280,000 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแตะ 69,555 ราย สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในโลกที่ 337,646 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9,648 ราย และอีก 17,582 รายได้รับการรักษาหายแล้ว

สำหรับในยุโรป สเปนมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดที่ 131,646 ราย และเสียชีวิต 12,641 ราย ส่วนอิตาลีมีผู้ติดเชื้อ 128,948 ราย และผู้เสียชีวิต 15,887 ราย ซึ่งสูงที่สุดในโลก ขณะที่เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับสี่ของโลกที่ 100,123 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 1,584 ราย ฝรั่งเศสมีผู้ติดเชื้อ 93,780 ราย และเสียชีวิต 8,093 ราย

ขณะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบการแพร่ระบาด มีผู้ติดเชื้อ 82,641 ราย และเสียชีวิต 3,335 ราย

ด้านอิหร่าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างมากนั้น พบผู้ติดเชื้อ 58,226 ราย และผู้เสียชีวิต 3,603 ราย

อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้วอย่างน้อย 264,439 รายใน 183 ประเทศทั่วโลกที่พบผู้ติดเชื้อ

สำหรับสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ล่าสุดข้อมูลเมื่อวันที่ 6 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 51 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสมรวม 2,220 รายในพื้นที่ 66 จังหวัด โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตในไทยรวมแล้ว 26 ราย ขณะที่ผู้ที่รักษาหายมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 793 ราย

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET INDEX รอบสัปดาห์ (7-10 เม.ย.) ประเมินแนวรับสำคัญไว้ที่ 1,100 จุด และแนวต้านไว้ที่ 1,187 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบบรรยากาศลงทุน คืออัตราจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกจะมีแนวโน้มลดลงหรือไม่ เพราะหากยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง จะยิ่งซ้ำเติมความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐที่มีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ว่างงานนอกภาคการเกษตรที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป

ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 701,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2553 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลงเพียง 10,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.4% ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.2560 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.7% หลังจากแตะระดับ 3.5% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี การลดลงของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ อันเนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก

อีกหนึ่งปัจจัยที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญ คือการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปก และประเทศพันธมิตร ที่เตรียมจัดขึ้นในวันพุธที่ 9 เม.ย.

ทั้งนี้ ต้องติดตามท่าทีของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซียว่าจะบรรลุข้อตกลง ยกเลิกการทำสงครามราคา และร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิต เพื่อยุติสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงต่ำสุดในรอบหลายปีได้หรือไม่

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การบริโภคน้ำมันได้ลดลงอย่างมาก หลังประเทศต่าง ๆ ได้ใช้มาตรการควบคุมและสั่งปิดกลไกเศรษฐกิจในวงกว้าง เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมน้ำมันยังได้รับผลกระทบจากสงครามราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปีเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ด้านปัจจัยในประเทศ จับตาผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 7 เม.ย.ที่คาดว่าจะเปิดเผยรายละเอียดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจระยะ 3 อย่างเป็นทางการ รวมถึงรูปแบบการจัดหาแหล่งเงินตามพระราชกำหนดกู้เงิน วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศรอบใหม่

ทิ้งท้ายกับประเด็นหุ้นกลุ่มธนาคารที่เตรียมนำร่องประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกในช่วงสัปดาห์ถัดไป เบื้องต้นช่วงสั้นหุ้นธนาคารบางรายมีโอกาสผันผวนตามแนวโน้มผลประกอบการหลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และบางแห่งได้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือไปแล้วก่อนหน้านี้

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินว่ากรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน มี.ค. และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 และมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อภาคเอกชนของธปท. ตลอดจนมาตรการรับมือความเสี่ยงจากโควิด-19 ของหลายประเทศทั่วโลก

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน มี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือน มี.ค. ซึ่งจะเริ่มทยอยประกาศออกมาด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top