PODCAST: ส่อหลุด 1,300 จุดหลังพ้นหยุดยาว “โนมูระ” แจงเหตุฝรั่งไม่หยุดขายหุ้นไทย !!

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (8-11 ก.ย.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 8 กันยายน 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (31 ส.ค.-4 ก.ย.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,311.95 จุด ลดลง 0.86% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยวและโรงแรม ลดลง 3.7% รองลงมาคือกลุ่มการเงิน ลดลง 3.5% และสุดท้ายคือกลุ่มปิโตรเคมี ลดลง 3.1%

สำหรับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงต้นเดือนกันยายน หลังจากผ่านพ้นเทศกาลวันหยุดยาว ดูเหมือนว่ายังคงถูกปกคลุมด้วยปัจจัยเชิงลบจากแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการรายงานข้อมูลของทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่รวบรวมมูลค่าการซื้อขายสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 3 กันยายน 2563 พบว่ากลุ่มนักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิเป็นมูลค่าเกือบ 259,261.65 ล้านบาท ซึ่งสวนทางกับกลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศ หรือนักลงทุนรายย่อยบ้านเรา ที่มีสถานะซื้อสุทธิเป็นมูลค่ากว่า 177,806.24 ล้านบาทเช่นเดียวกับกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ หรือกองทุนไทย ที่ยังคงมีสถานะซื้อสุทธิเป็นมูลค่ากว่า 81,391.12 ล้านบาท

แม้ว่าแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะกดดันบรรยากาศการลงทุนโดยรวม แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยระลอกใหม่ รวมถึงโฉมหน้าของว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ว่าจะมีชื่อชั้นเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางความเสี่ยงการทรุดตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระลอกที่สอง และความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย

ส่วนความคาดหวังต่อปัจจัยในต่างประเทศ คงหนีไม่พ้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 4 ของสหรัฐอเมริกาว่าจะออกมารูปแบบใด โดยนักวิเคราะห์มุ่งเป้าไปที่วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้หากสูงกว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯจะส่งผลเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุนทันที แต่หากวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ต่ำกว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจมีความเสี่ยงที่นักลงทุนทั่วโลกจะตอบรับในเชิงลบ

และประเด็นถัดมาคือการโยกย้ายของเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล่าสุดพบว่าหุ้นเติบโตสูงอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเริ่มเกิดสัญญาณขาย ก่อนจะโยกย้ายกระจายเม็ดเงินเข้าในหุ้นกลุ่มที่อิงกับการบริโภคและสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มูลค่าหุ้นยังไม่แพงเกินไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นสิ่งสะท้อนว่าแนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯกำลังเกิดความไม่แน่นอนส่งสัญญาณเข้าสู่การปรับฐานระยะถัดไปได้เช่นกัน

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน ประเมินแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังจากผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาว ยังคงมีความเสี่ยงที่จะแกว่งตัวปรับฐานต่ำกว่า 1,300 จุด โดยเบื้องต้นวางแนวรับไว้ 2 ระดับที่ 1,274 จุด และ 1,260 จุด ขณะที่แนวต้านยังคงมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดอยู่ที่ 1,330 จุด

“สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติยังกังวลตลาดหุ้นบ้านเราคือภาวะเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพิงกับปัจจัยภายนอกเยอะ โดยเฉพาะรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังมีความเสี่ยงการฟื้นตัวได้ช้า เป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่แนวทางกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศก็ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ผลกระทบโควิด-19 เป็นตัวแปรเร่งระดับหนี้ครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้นมาตรการส่วนใหญ่ที่ออกมาเป็นการช่วยประคับประคองเท่านั้น ไม่ใช่มาตรการที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ส่วนตัวแปรที่คิดว่าจะเข้ามาปลดล็อกนักลงทุนต่างชาติหวนกลับมาลงทุนตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง คงเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม หรืออีกกรณีคือ Valuation ของตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียปรับตัวลดลงจนมี Discount ก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง”

นายกรภัทร กล่าว

ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 31.10-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญได้แก่ ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ สถานการณ์โควิด-19 ในไทยและต่างประเทศ และสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค.และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค.ของจีนด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทก่อนวันหยุดยาวพบว่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยแตะระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 สัปดาห์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสัญญาณขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกในระหว่างสัปดาห์จากข้อมูล PMI/ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ตลาดยังคงรอติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และประเด็นการเมืองในประเทศของไทยอย่างใกล้ชิด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top