IND ถอดมูลค่าหุ้นสายต้นน้ำงานก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ไทย

เกาะติดกับความเคลื่อนไหวหุ้นน้องใหม่ บมจ.อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (IND) ตุนประสบการณ์เกือบ 4 ทศวรรษโลดแล่นในแวดวงวิศวกรรมที่ปรึกษางานก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ระดับประเทศหลายโครงการ ล่าสุดพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 90 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 25.71% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท พร้อมลงสนามเทรดวันแรกวันที่ 22 ธ.ค.63 ด้วยราคา IPO หุ้นละ 1.10 บาท คิดเป็น P/E 34.25 เท่า พิจารณาจากผลประกอบการย้อนหลัง 4 ไตรมาส 1 ต.ค.62 ถึง 30 ก.ย.63

ธุรกิจหลักของ IND คือที่ปรึกษาทางวิศวกรรมงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศ โดยมีโครงการที่ผ่านมือมาแล้วกว่า 300 โครงการ ด้วยความชำนาญตั้งแต่งานออกแบบเบื้องต้นและออกแบบรายละเอียด (Conceptual Design & Detailed Design), งานบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง (Project Management & Construction Supervision) และงานออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design-Build) ให้แก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

นางสาวพรลภัส ณ ลำพูน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานบริหาร IND เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ผลงานที่สำคัญของบริษัท ประกอบด้วย การวาง Master Plan ให้กับโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่น การออกแบบจัดลำดับความสำคัญการพัฒนางานก่อสร้างด้านต่างๆ ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงในจังหวัดเชียงใหม่ บริษัทเข้าไปรับงานประเภทศึกษารายละเอียดเบื้องต้นให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ,งานประเภทออกแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีแดง สายสีเขียว และประเภทควบคุมงานคือโครงการท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ และปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในส่วนต่อขยาย

“สมัยอดีตบริษัทต่างชาติจะเป็นที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น แต่จากการที่บริษัทได้เข้าไปร่วมทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฟสที่หนึ่ง ต่อมาในเฟสที่สองบริษัทมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่รัฐบาลไทยต้องการ เป็นโอกาสให้บริษัทได้รับงานดังกล่าว ช่วงนั้นรัฐบาลเร่งขยายโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คลังน้ำมันเชื้อเพลิง ทางด่วน ถนน รวมถึงอีกหลากหลายโครงการขนาดใหญ่ ทำให้เป็นโอกาสงานวิศกรรมผู้เชี่ยวชาญพิเศษ”

นางสาวพรลภัส กล่าว

นางสาวพรลภัส กล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจของ IND มีความเสี่ยงต่ำเพราะไม่มีการแข่งขันราคาจากการประมูลแตกต่างกับธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้างที่ต้องประมูลงานให้ได้ในราคาต่ำที่สุดถึงจะมีโอกาสได้รับงาน แต่ธุรกิจที่ปรึกษาโครงการนั้นต้องแข่งขันกันที่เทคนิคด้านงานวิศวกรรม คุณสมบัติความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ความสำเร็จของโครงการในอดีต

“จุดแข็งของ IND คือมีความเชี่ยวชาญงานที่ปรึกษาวิศกร 6 ประเภทคือ ถนนและการทางพิเศษ ,ท่าอากาศยาน ,ชลประทาน ,คลังน้ำมันและวางท่อ ,อาคาร ,และระบบราง ซึ่งตลอดเกือบ 40 ปีบริษัทมีคุณสมบัติครบทุกประเภทสามารถรับงานได้หลากหลาย”

นางสาวพรลภัส กล่าว

ส่วนภาพรวมศักยภาพทำกำไรแต่ละธุรกิจนั้น ปัจจุบันบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7% ต่อปี แบ่งเป็นงานประเภทออกแบบที่ปกติจะมีขนาดของโครงการมูลค่าหลักร้อยล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 20% ส่วนงานประเภทควบคุมงานก่อสร้างปกติรับงานขนาดโครงการหลักพันล้านบาทมีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 30% และงานประเภทออกแบบพร้อมก่อสร้างปกติรับงานขนาดโครงการหลักพันล้านบาทเช่นกัน แต่มีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 10%

ทั้งนี้ ภายหลังจากการเข้าระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai แล้ว บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสร้างการเติบโตให้กับผลประกอบการบริษัทได้อีกมาก เพราะจากกระบวนการเข้าร่วมประมูลแต่ละงานนั้นบริษัทจำเป็นต้องนำเงินสดหรือทรัพย์สินเข้าไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันบางส่วน ดังนั้นเมื่อได้รับเงินทุนแล้วก็จะนำไปขยายการรับงานโครงการเมกะโปรเจกต์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ จะนำเงินไปยกระดับขีดความสามารถแข่งขันจากแผนพัฒนาลงทุนระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในทุกๆมิติ

นางสาวพรลภัส กล่าวอีกว่า ภาพรวมผลประกอบการปี 63 มีแนวโน้มเติบโตได้ดี เนื่องจากมีมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 520 ล้านบาท บางส่วนจะทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/63 และบางส่วนทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องในปี 64 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะกระทบกระบวนการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐเกิดความล่าช้าการประมูลงาน การตรวจรับงาน หรือการเซ็นสัญญาว่าจ้างงานต่างๆ แต่ในช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมากระบวนการของหน่วยงานภาครัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ล่าสุดบริษัทเข้าไปประมูลงานต่างๆ และมีบางโครงการที่เริ่มเซ็นสัญญาไปบ้างแล้ว จึงเชื่อว่าภาพรวมปี 64 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการรับงานใหม่เข้ามาเสริม Backlog ที่จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในปีถัดๆ ไป

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินของบริษัท ภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top