STGT สู่เป้าใหม่เบอร์หนึ่งถุงมือยางธรรมชาติโลก

แม้ว่าจะมีข่าวดีการใช้วัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มทยอยฉีดให้กับประชาชนในประเทศพัฒนาแล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ยังคงลุกลามในหลายประเทศทั่วโลก

ขณะที่ประเทศไทยก็เริ่มเห็นสัญญาณการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นรอบใหม่ หลังจากมีการพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครโดยมีต้นตอจากแรงงานต่างด้าว ก่อนกระจายอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกรุงเทพฯ ,สมุทรปราการ ,ราชบุรี ,สุพรรณบุรี และนครปฐม

ด้วยความกังวลที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นของบางบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับอานิสงส์จากความเสี่ยงการแพร่ระบาดระลอกใหม่กลับได้รับความสนใจอีกครั้ง และหนึ่งในนั้นคือหุ้น STGT หรือ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตถุงมือยางอันดับต้นๆ ของโลก ที่ล่าสุดมีเป้าหมายใหม่ต้องการก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดในผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติของโลกภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

“ถ้าถามว่าวันนี้เรามีเป้าหมายเติบโตอนาคตอย่างไร step แรกของการเติบโตในอีก 6 ปีข้างหน้าบริษัทต้องการบรรลุเป้าหมายขับเคลื่อนกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 1 แสนล้านชิ้นภายในปี 2026 (2569) นับว่าเร็วกว่าแผนเติบโตระยะยาวที่บริษัทเคยวางแผนยุทธ์ศาสตร์ไว้ในช่วงก่อนหน้านี้”นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ STGT ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์”

ขยับเป้าขึ้นเบอร์หนึ่งถุงมือยางธรรมชาติของโลก ดันมาร์เก็ตแชร์แตะ 10%

นางสาวจริญญา กล่าวว่า ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของโลกอันดับหนึ่งมีกำลังการผลิต 9 หมื่นล้านชิ้นต่อปี และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิต 10-15% ต่อเนื่องทุกๆ ปี เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตรวมของ STGT อยู่ที่ 3 หมื่นล้านชิ้นต่อปี ยังห่างกันมากถึง 3 เท่าตัว ดังนั้นโอกาสเทียบชั้นเบอร์หนึ่งของโลกเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมาก

สถานะในตลาดโลก STGT อยู่อันดับ 3 รองจากท็อปโกลฟ และฮาตาริก้า ซึ่งคู่แข่งทั้ง 2 รายเน้นการผลิตถุงมือยางสังเคราะห์ ขณะที่หากแยกเฉพาะสินค้าถุงมือยางธรรมชาติ ขณะนี้ STGT เป็นอันดับ 2 ของโลก

ข้อได้เปรียบของ STGT คือมีนโยบายรักษากำลังการผลิตถุงมืองยางธรรมชาติเป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณขายแต่ละปี ทำให้บริษัทมีโอกาสจะก้าวขึ้นสู่เป้าหมายเป็นเบอร์หนึ่งผู้ผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลกภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดหันไปเน้นผลิตถุงมือยางสังเคราะห์ (ไนไตรล์) มากขึ้น และลดการผลิตถุงมือยางธรรมชาติลง

ขณะที่บริษัทยังมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับถุงมือยางธรรมชาติ โดยนวัตกรรมล่าสุด คือถุงมือยางธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้โปรตีน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสินค้าหลักที่ช่วยให้บริษัทสามารถชิงส่วนแบ่งทางการตลาดถุงมือยางธรรมชาติในตลาดโลกได้ดีในอนาคต

“ถ้าแบ่งความต้องการถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางไนไตรล์เป็นสัดส่วนพอๆ กันหรือ 50%-50% แต่ช่วงที่มีโรคระบาดโควิด-19 ความต้องการถุงมือยางไนไตรล์พุ่งขึ้นสูงมาก ทำให้ผู้ซื้อบางรายรับกับต้นทุนที่สูงของถุงมือยางไนไตรล์ไม่ได้ ทำให้มีผู้ซื้อหลายรายต้องการถุงมือยางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงป้องกันอาการแพ้ (ไม่มีแป้ง) เทียบเท่ากับถุงมือยางไนไตรล์ ซึ่งบริษัทมีนวัตกรรมเรื่องนี้ ทำให้เชื่อมั่นว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี”

นางสาวจริญญา กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ถุงมือยางในตลาดโลก 6-7% จึงวางเป้าหมายขยับขึ้นสู่ระดับ 10% ในเฟสแรก สะท้อนจากสมมติฐานภาพรวมดีมานด์ถุงมือยางตลาดโลกเติบโต 10-12% โดยริษัทมีเป้าหมายเติบโตเฉลี่ย 19% ทุกๆ ปี หากเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตน่าจะเป็นส่วนช่วยผลักดันมาร์เก็ตแชร์ได้

“บริษัทมีนโยบายเชิงรุกขยายกลุ่มลูกค้าในประเทศเดิม และประเทศใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเติบโตสูง โดยเฉพาะตลาดหลัก คือประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการบริโภคถุงมือยางต่ำมาก หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐที่มีความต้องการใช้สูงมากกว่า 10 เท่า ดังนั้นเมื่อเราเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาได้แล้ว แนวโน้มปริมาณขายจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ”

นางสาวจริญญา กล่าว

เร่งเครื่องเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1 แสนล้านชิ้นในปี 69 เร็วกว่าแผนเดิม

นางสาวจริญญา กล่าวว่า จากเป้าหมายการชิงส่วนมาร์เก็ตแชร์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น บริษัทจึงเร่งแผนขยายกำลังการผลิตให้เร็วขึ้นจากเดิมกำหนดเป้า 1 แสนล้านชิ้นภายในปี 75 ก็จะขยับขึ้นมาเป็นปี 69

กลยุทธ์ของ STGT ที่ผลักดันสร้างการเติบโต คือแผนการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางให้ได้ตามเป้าหมาย แบ่งเป็น ช่วงแรกมีแผนขยาย 7 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นรวม 3.8 หมื่นล้านชิ้นต่อปี บริษัทมีความพร้อมเรื่องพื้นที่ก่อสร้างและมีแผนการผลิตเชิงพาณิชย์ชัดเจนแล้ว ตั้งแต่โรงงาน “สะเดา1” และ “สะเดา2” ในจังหวัดสงขลาเริ่มก่อสร้างแล้ว เช่นเดียวกับโรงงานชุมพร และโรงงานตรัง 3 มีความพร้อมเริ่มก่อสร้างแล้วเช่นกัน

ส่วนโรงงานตรัง 4 อยู่ระหว่างรอดำเนินการในระยะถัดไป ทำให้มีความมั่นใจว่าแผนการขยายกำลังการผลิตผ่านทั้ง 7 โรงงานก็เดินหน้าสร้างการเติบโตได้ในอนาคต

“แม้ว่าบริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ของ 7 โรงงานตามแผน แต่ภายหลังจากเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว ก็ต้องมาตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตต่อหรือไม่ เพราะต้องขึ้นให้สอดคล้องกับความสมดุลของดีมานด์และซัพพลายในตลาดโลก ไม่ต้องการเห็นการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการรายใหญ่กันเอง เราต้องระมัดระวังตัวความเสี่ยงเรื่องนี้ด้วย”

ดีมานด์ถุงมือยางโลกยังสูงแม้มีวัคซีน-กำลังผลิตเพิ่ม หนุนผลงานโตพุ่งต่อ

นางสาวจริญญา กล่าวอีกว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกเติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนจากข้อมูลของสมาคมถุงมือยางของประเทศมาเลเซียที่คาดการณ์ว่าความต้องการ (ดีมานด์) ในปีนี้จะเติบโตมากกว่า 20% มาที่ 3.6 แสนล้านชิ้น จากช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อยู่ที่ปีละ 3 แสนล้านชิ้น

จากดีมานด์ที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้บริษัทสามารถปรับราคาขายได้อย่างต่อเนื่องตามไปด้วย โดยหากนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/63 มาถึงไตรมาส 3/63 ปรับเพิ่มราคาขายไปแล้วมากกว่า 70% และช่วงไตรมาส 3/63 ถึงไตรมาส 4/63 ก็ยังสามารถปรับเพิ่มราคาขายได้อีกมากกว่า 50% ซึ่งล่าสุดบริษัทได้กำหนดราคาขายล่วงหน้าสินค้าที่จะส่งมอบใสนปี 64 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ภาวะขาดแคลนถุงมือยาง แต่ความต้องการมีจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดเป็น Seller Market หรือเป็นตลาดของผู้ขาย ทำให้บริษัทสามารถปรับเพิ่มราคาขายและได้รับกำไรที่ค่อนข้างดี เพราะราคาวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลักไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับออเดอร์ล่วงหน้าที่มีเข้ามามาก ผู้ซื้อแต่ละรายพร้อมเข้ามาสู้เรื่องราคา”

ทั้งนี้ ในปี 64 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันล้านชิ้น หรือเติบโตประมาณ 15% จากฐานกำลังการผลิตของปี 63 เพื่อรองรับดีมานด์ที่ยังทรงตัวสูง ดังนั้น หากอ้างอิงกับราคาขายที่ดีและปริมาณขายเติบโต เป็นการสะท้อนถึงภาพรวมผลประกอบการที่ดีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับศักยภาพทำกำไรเพราะปี 63 บริษัทรับอานิสงส์จากการปรับราคาขายช่วงปลายไตรมาส 2/63 แล้วจากการขายล่วงหน้าทำให้รับรู้ผลบวกเต็มที่ไตรมาส 3/63 แต่ปี 64 จะรับรู้ผลบวกตลอดทั้งปี มีความมั่นใจว่าผลกำไรจะดีขึ้นกว่าปีนี้แน่นอน

“แตกพาร์”เปิดทางรายย่อยถือหุ้น-เข้าเทรดตลาดสิงคโปร์ชัดเจน Q2/64

สำหรับแผนการเพิ่มสภาพคล่องหรือเพิ่มสัดส่วนจำนวนผู้ลงทุน ล่าสุดบริษัทมีแผนการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จากเดิมมูลค่าหุ้นละ 1 บาท เป็นมูลค่าหุ้นละ 0.50 บาท พร้อมกับอยู่ระหว่างเตรียมการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Secondary Listing by way of Introduction) บนกระดานหลัก (Main Board) ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาสที่ 2/64

เหตุผลการแตกพาร์และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพื่อต้องการเป็นที่รู้จักของผู้ลงทุนเป็นวงกว้าง และต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนทั้งรายย่อยและต่างชาติให้เข้ามาถือหุ้นบริษัทมากขึ้น เพราะราคาหุ้น STGT ในปัจจุบันมีราคาสูง ทำให้มีผู้ลงทุนถือหุ้นบริษัทในสัดส่วนที่ต่ำหากเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top