สัมภาษณ์พิเศษ: KWM แกะพื้นฐานหุ้นร้อนสู่หุ้นเติบโตยุคโรงสกัดกัญชง

การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เป็นชนวนปลุกกระแสการเคลื่อนย้ายกลุ่มแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาคเกษตรเป็นจำนวนมากเรื่อยๆ ส่งผลให้ธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการอุตสาหกรรมการเกษตรเมืองไทยมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เป็นปัจจัยผลักดันผลประกอบการของ บมจ.เค.ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค (KWM) เป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ต่อพ่วงเครื่องจักรกลการเกษตร อาทิ ใบผาล โครงผาล และใบเกลียว ยังคงสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี ช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อหุ้น KWM เพิ่มขึ้น สะท้อนจากทิศทางราคาหุ้นKWM ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น นับตั้งแต่ต้นปี 64 จนมาถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนจากส่วนต่าง

ราคาหุ้นแล้วมากกว่า 400% !!

ขณะที่ล่าสุด KWM กำลังแตกไลน์ธุรกิจใหม่สู่การเป็นหนึ่งในผู้เล่น ในฐานะผู้ผลิตเครื่องสกัดพืชกัญชาและกัญชง รวมถึงการนำนวัตกรรมต่อยอดการสกัดสมุนไพรอีกหลากหลายชนิด ทำให้แนวโน้มผลประกอบการในอนาคตจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนราคาหุ้น KWM ปรับตัวขึ้นไปได้ไกลอีกแค่ไหน

ปรับเป้ารายได้โต 40% รับดีมานด์ภาคเกษตรทะลัก

นายอุกฤษณ์ วนโกสุม รองกรรมการผู้จัดการ KWM เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สัญญาณความต้องการสินค้าเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 63 และยังคงเติบโตต่อเนื่องมาถึงปี 64 สะท้อนจากภาพรวมผลประกอบการบริษัทช่วงไตรมาส1/64 เติบโตค่อนข้างดี

นอกจากนั้นความต้องการเร่งตัวขึ้นจากปัจจัยราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าเร่งกักตุนสินค้า เป็นแรงกระตุ้นความต้องการในตลาดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับคู่ค้าหลักอย่าง บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้แบรนด์ “ตราช้าง” คิดเป็นสัดส่วน 80% ของรายได้รวม บริษัทจึงปรับแผนเพิ่มกำลังการผลิตต่อเนื่องไปถึงเดือน ต.ค.นี้ ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติปรับเพิ่มเป้ารายได้ปีนี้เป็นเติบโต 40% จากเดิมที่วางไว้ไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีความผันผวน แต่บริษัทวางกลยุทธ์สต็อกวัตถุดิบหลักไว้ควบคู่ไปกับแผนการ ขยายไลน์การผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ประกอบกับบริษัทยังสามารถปรับราคาขายได้ทุกๆ 3 เดือนตาม เงื่อนไขของคู่ค้าทำให้บริษัทยังสามารถรักษาศักยภาพทำกำไรได้เป็นอย่างดี

“สมัยอดีตถ้าเป็นช่วงไฮซีซั่นตามปกติบริษัทจะมียอดผลิตใบพาล 30,000-40,000 ชิ้นต่อเดือน แต่ไฮซีซั่นช่วงนี้มียอดผลิตเพิ่ม ขึ้นเป็นเท่าตัว และเดิมคาดว่าช่วงโลว์ซีซั่นยอดผลิตอาจชะลอไปบ้าง แต่กลายเป็นว่าปีนี้ความต้องการกลับเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส2และต่อเนื่องถึงครึ่งปีหลังไม่ได้มีความน่าเป็นห่วง”

นายอุกฤษณ์ กล่าว

ปักเป้าผลิตเครื่องสกัดเฟสแรก 10 เครื่อง ก่อนพุ่งสู่เป้าทะลุ 50 เครื่องใน 5 ปี

นายอุกฤษณ์ กล่าวถึงก้าวใหม่ในการขยายธุรกิจของ KWM เข้าสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องสกัดสารพืชกัญชาและกัญชง ล่าสุด กลุ่ม ลูกค้ามีความสนใจอย่างต่อเนื่อง โมเดลเฟสแรกตั้งเป้าผลิตเครื่องสกัดจำนวน 10 เครื่อง เป็นลักษณะการให้ลูกค้าทำสัญญาเช่าเครื่อง ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ประจำ เครื่องสกัดของบริษัทได้นำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดการผลิตเริ่มต้นขนาด 20 ลิตร เหมาะสำหรับการสกัดวัตถุดิบพืชกัญชาและกัญชงที่มีขนาดเพาะปลูก 1,000 ต้น และในอนาคตมีแผนพัฒนาเครื่องสกัดรองรับกำลังการผลิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทยืนยันว่ามีฐานเงินทุนเพียงพอกับการขยายธุรกิจเครื่องสกัดตามแผน 5 ปี เบื้องต้นตั้งเป้าการผลิตเครื่องสกัดเพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าประมาณ 50 เครื่อง หรืออาจจะมากกว่านั้นหากตลาดมีอัตราการเติบโตเป็นอย่างดี

“บริษัทมีทีม R&D เพื่อวิจัยพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องสกัดสารเป็น Project ที่บริษัทเริ่มพัฒนามาแล้วกว่า 2 ปีด้วยการนำเทคโนโลยีใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวนำพาสารสกัดออกจากพืชกัญชงและกัญชา ซึ่งวันนี้เครื่องสกัดของบริษัทมีความสมบูรณ์แบบแล้วมีลูกค้าหลายรายสนใจอย่างมาก”

นายอุกฤษณ์ กล่าว

สำหรับบริการให้เช่าเครื่องสกัด KWM Extractor 1.0 จะคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง ราคาอยู่ที่ 6,000 บาท/ครั้งจำนวนการสกัดขั้นต่ำ 150 ครั้ง/ปี คาดว่าจะมีรายรับจากเครื่องสกัดที่ 900,000 บาท/เครื่อง/ปี นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการดูแลเครื่องจักรหลังการขาย คาดว่าจะสร้างรายได้อีกปีละ 360,000 บาท พร้อมทั้งในเครื่องสกัดจะมีระบบ Data base ซึ่งสามารถนำข้อมูลพืชสมุนไพรที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้อีกในหลายอุตสาหกรรม

เล็งขอใบอนุญาตโรงสกัด พร้อมเพาะปลูกกัญชา-กัญชงในปี 65

นายอุกฤษณ์ กล่าวต่อว่า บริษัทมีแผนพัฒนาธุรกิจเครื่องสกัดเฟส 2 ด้วยการก่อสร้างโรงสกัดของบริษัทเอง เนื่องจากคาดว่าความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต หลังจากเห็นสัญญาณการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกค่อนข้างมาก แต่ผู้ประกอบการที่มีความชำนาญด้านโรงสกัดในไทยยังมีจำนวนน้อย จึงเชื่อว่าจะเป็นโอกาสการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

ส่วนการพัฒนาเฟส 3 บริษัทมีแนวทางนำ KnowHow บางส่วนจากผู้ผลิตต่างประเทศมาผลิตเครื่องสกัดให้กับบริษัทที่มีความสามารถผลิตได้เร็วกว่าเดิม 1 เท่าตัว ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าภายในปี 65 บริษัทจะยื่นขอใบอนุญาตเพื่อตั้งโรงสกัด และใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาและกัญชง ล่าสุด อยู่ในขั้นตอนการศึกษาแผนร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐหลายราย ซึ่งก็ได้รับความสนใจต้องการเป็นพันธมิตรกับบริษัท

“บริษัทมีแผนขอใบอนุญาตลงทุน Lab แบบครบวงจร หลังจากนี้จะมีการนำข้อมูลต่างๆ ของการสกัดสารแต่ละตัวเพื่อให้ได้ต้นทุนการสกัดต่ำ เชื่อว่าภายใน 5 ปีเครื่องสกัดของบริษัทจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องสกัดในสหรัฐฯที่มีต้นทุนที่ถูกและมีประสิทธิภาพการผลิตสูง

หากภาพรวมอุตสาหกรรมตลาดกัญชากัญชงมีแนวโน้มเติบโตที่ดีก็จะเป็นธุรกิจที่สร้างการเติบโต New S-Curve ให้กับผลประกอบการของบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ระยะยาว เบื้องต้นตามแผน 5 ปีข้างหน้าโครงร้างรายได้จากธุรกิจหลักจะอยู่ที่ 70% และธุรกิจใหม่ 30% แต่หากกัญชากัญชงของไทยไปสู่ระดับสากลเชื่อว่าสัดส่วนรายได้จะมากกว่า 30% เพราะเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก”

นายอุกฤษณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top