ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการลดลงต่อเนื่องไตรมาสที่ 9

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ–ปริมณฑลในไตรมาส 2/64 ยังต่ำกว่าระดับ 50.0

ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 2/62 จนถึงปัจจุบัน จุดเริ่มต้นจากการบังคับใช้มาตรการควบคุม LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในไตรมาส 2/62 ต่อมาในปี 63 ประเทศไทยต้องประสบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน

โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างต่อเนื่องจนมาถึงไตรมาส 2/64 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และมีผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความกังวลต่อผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการตามประเภทบริษัท พบว่าความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ ประจำไตรมาส 2/64 มีค่าดัชนีเท่ากับ 51.1 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 และสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีเพียง 49.4 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทมหาชนมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบัน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขาย การลงทุนใหม่ๆ และการเปิดตัวโครงการใหม่หรือเฟสใหม่ โดยเฉพาะที่เป็นโครงการบ้านจัดสรรเพื่อทดแทนหน่วยที่ได้ขายไปและทดแทนโครงการอาคารชุดที่เปิดตัวลดลง

แต่ผู้ประกอบการกลุ่มผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 39.3 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.7 และค่าดัชนียังต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่มีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบันในทุกๆ ปัจจัย

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ–ปริมณฑลในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 50.5 ลดลงอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.8 แม้ว่าค่าดัชนียังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แต่มีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการก็ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกเล็กน้อย คาดว่าเป็นเหตุผลมาจากที่รัฐบาลได้ประกาศแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือในเดือนต.ค.64 หากสามารถทำได้ตามแผนก็จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ก็ยังกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในปัจจุบัน

เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการตามประเภทบริษัท พบว่ากลุ่ม บจ.มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 55.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 63.6 แม้ว่าก็ยังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แต่จะเห็นได้ว่ามีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย ส่วนกลุ่มบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ มีค่าดัชนีเท่ากับ 42.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5 โดยมีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย

และจะเห็นได้อย่างชัดว่าผู้ประกอบการกลุ่มในกลุ่มนี้ขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าในระดับที่มากกว่าผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทมหาชน เป็นผลมาจากความเสียเปรียบในด้านเงินลงทุนพัฒนาโครงการใหม่หรือขยายเฟสใหม่ และความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่มีต่อชื่อเสียงของบริษัทมหาชนซึ่งมีผลต่อโอกาสและการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top