หุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้าขยับขึ้นตาม Sentiment ตลาดทั่วโลกหลังงบฯดี-ราคาน้ำมันรีบาวด์

นักวิเคราะห์ฯเล็งตลาดหุ้นไทยเช้านี้ขยับขึ้นตาม Sentiment ตลาดหุ้นทั่วโลกจากงบฯในแต่ละตลาดออกมาดี-ราคาน้ำมันรีบาวด์-“ไชน่า เอเวอร์แกรนด์”สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มเหมืองแร่ แต่ตลาดฯอาจรีบาวด์จำกัด เพราะยังกังวลเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ Bond yield สูง และ US Dollar Index ขึ้นมาสูงสุดในรอบ 16 เดือน จับตาประชุมศบค.วันนี้จะมีการผ่อนปรนเพิ่มหรือไม่ พร้อมให้แนวรับ 1,625-1,620 แนวต้าน 1,635-1,640 จุด

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะขยับขึ้นได้ตาม Sentiment ตลาดหุ้นทั่วโลกจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในแต่ละตลาดที่ออกมาดี และราคาน้ำมันก็รีบาวด์ขึ้นด้วย รวมถึงบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ก็สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาที่สินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มเหมืองแร่

อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ของ SET อาจมีจำกัด จากความกังวลเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ปรับขึ้นมา 1.58% และ US Dollar Index ก็ปรับขึ้นมาสูงสุดในรอบ 16 เดือน ทำให้คาดว่า SET จะไปได้ไม่ไกล

ทั้งนี้ ให้ติดตามการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันนี้ จะมีการผ่อนปรนเพิ่มหรือไม่ อย่างในเรื่องการนำเข้าแรงงานต่างด้าว หากมีการผ่อนปรนจะเป็นผลดีต่อกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และดูว่าจะผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า หากทำได้ก็จะดีต่อกลุ่ม Reopening

พร้อมให้แนวรับ 1,625-1,620 จุด ส่วนแนวต้าน 1,635-1,640 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

– ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (11 พ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,921.23 จุด ลดลง 158.71 จุด (-0.44%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,649.27 จุด เพิ่มขึ้น 2.56 จุด (+0.06%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,704.28 จุด เพิ่มขึ้น 81.58 จุด (+0.52%)

– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 103.59 จุด หรือ +0.35%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 274.84 จุด หรือ +1.09% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 1.36 จุด หรือ +0.04%

– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (11 พ.ย.)1,632.44 จุด เพิ่มขึ้น 1.97 จุด (+0.12%)

– นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 207.11 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 พ.ย.64

– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (11 พ.ย.) ปิดที่ระดับ 81.59 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 25 เซนต์ หรือ 0.3%

– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (11 พ.ย.) อยู่ที่ 5.73 ดอลลาร์/บาร์เรล

– เงินบาทเปิด 32.84 แข็งค่าสวนทางตลาด ให้กรอบวันนี้ 32.70-32.90 จับตาทิศทาง Flow

– “การบินไทย” ยื่นคลัง เร่งสรุปปมสัดส่วนหุ้นเหลือ 8% หลังรัฐบาลไม่สนับสนุนเงินทุน 2.5 หมื่นล้าน ชี้ช่องทาง “แปลงสินทรัพย์เป็นทุน-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน” ด้าน “อาคม” ชี้แนวโน้มฟื้นตัวชัด ผลดำเนินงานดีขึ้นอาจไม่ต้องกู้ “สันติ” ไม่หวั่นสัดส่วนหุ้นลดลง สคร.ไม่สรุปแปลงหนี้เป็นทุน ย้ำนโยบายต้องถือหุ้นใหญ่

– นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตาม 3 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดเนื่องจากจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาพรวมที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นและสะท้อนไปยังราคาสินค้าที่อาจบั่นทอนแรงซื้อประชาชนที่ลดลงได้ ประกอบด้วย ต้นทุนวัตถุดิบทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ การเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้ากลางน้ำและปลายน้ำทยอยปรับราคา, แรงงานต่างด้าวขาดแคลนจากผลกระทบของโควิด-19 และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าและผันผวนที่กระทบต่อการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบและพลังงาน

– ศบค.ชุดใหญ่เตรียมเคาะมาตรการเพิ่ม พร้อมกางแผนบริหารแรงงานต่างด้าว หารือไฟเซอร์ซื้อแพกซ์โลวิด “บิ๊กตู่” พอใจฉีดวัคซีนครบก่อนกำหนด ชาวบ้านชายแดนใต้เข้ารับวัคซีนแล้วหลังทำความเข้าใจไม่มีผลต่อชีวิต

– นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัว หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 400,000 บาร์เรล/วัน จากปกติในเดือน ธ.ค.นี้ แม้ว่าสหรัฐฯ ได้กดดันให้โอเปกพลัสเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันโลก อีกทั้งตลาดน้ำมันโลกยังได้แรงหนุนกรณีที่ บริษัทซาอุดี อารามโค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบประเภท Arab Light Crude สำหรับลูกค้าในเอเชียสู่ระดับ 2.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค.นี้ โดยปรับเพิ่มขึ้น 1.40 ดอลลาร์ฯ จากระดับของเดือน พ.ย.นี้

– นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้กำหนดแนวทางการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 โดยพิจารณาจากผลการประเมิน เพื่อทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤติ (stress test) ในช่วงปี 2564-2566 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่งเพียงพอรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ได้เพิ่มความระมัดระวังด้วยการทยอยตั้งสำรองและสะสมเงินกองทุนมาโดยตลอด ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราการกันเงินสำรองสูงถึง 1.55 เท่า ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) 19.9% ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564

หุ้นเด่นวันนี้

– SCB (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) “ซื้อ” เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 135 บาท ปัจจัยหนุนจากการที่ ธปท.ประกาศผ่อนคลายการจ่ายปันผลของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สะท้อนความแข็งแกร่งของธนาคารไทย เป็นบวกต่อกลุ่มธนาคาร (SCB บวกมากสุด) ผสานกับการที่ SCB เดินหน้าสู่การปรับโครงสร้างบริษัทลูก คาดจะช่วยหนุนการเติบโตในช่วงถัดไป

– BEM (กรุงศรี) “ซื้อ”เป้า 10 บาท มองผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วราคาหุ้นที่ลดลงเป็นโอกาสเข้าซื้อ จากทิศทางกำไรที่จะทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ Q4/64 ระยะกลางยาวมีปัจจัยบวกจากข่าวล่าสุดที่ รฟม. เปิดขายซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท โดย BEM และ CK เป็นเต็งหนึ่ง

– TACC (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ”เป้า 9.50 บาท กำไร Q3/64 +4% Q-Q, +20% Y-Y ดีกว่าคาดแม้จะถูกกระทบทางอ้อมจากโควิด-19 และล็อกดาวน์ แต่สินค้าของ TACC ถูกกระทบน้อยกว่าคนอื่นและยังบริหารจัดการต้นทุนได้ดีเยี่ยม แนวโน้ม Q4/64 จะเร่งตัวขึ้นทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและ Character หลังลูกค้าเริ่มกลับมาทำโปรโมชั่นการตลาดอีกครั้ง ส่วนระยะยาวยังได้แรงหนนุจากการเติบโตไปในกัมพูชาและลาวตาม 7-11 รวมถึงการขยายฐานลูกค้า Non-7-11 พร้อมให้แนวรับ 7.70-7.80 บาท แนวต้าน 8.20-8.25 บาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top