บัวหลวง มองดัชนีปีนี้ขาขึ้น แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนรับศก.ฟื้น-Fund Flow เข้า

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นที่กำลังพัฒนาไปสู่ขาขึ้นในปี 2564 ทำให้ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อการลงทุน “สินทรัพย์เสี่ยง” โดยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน “ตลาดหุ้น” จาก 60% เป็น 70% แบ่งเป็นหุ้นไทย 30% และหุ้นต่างประเทศ 40% เน้นหุ้นจีนและหุ้นสหรัฐฯ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากที่เป็น New Economy และภายใน 10 ปีข้างหน้ายังคงมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน แนะปรับลดน้ำหนักการลงทุน “ตราสารหนี้” จาก 15% เหลือประมาณ 5% และคงน้ำหนักการลงทุนใน “กองทุนอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์” ประมาณ 10% และ “ทองคำ” ประมาณ 15%

สำหรับปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้น คือ

  • 1.การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวอย่างพร้อมเพียงในปีนี้ หลังเศรษฐกิจหดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่ผ่านมา
  • 2.กำไรบริษัทจดทะเบียน ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว หากวัคซีนต้านโควิด-19 เข้าถึงประชาชนอย่างแพร่หลายอาจเห็นตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะกลับไปสู่กำไรก่อนโควิด-19 ระบาด
  • 3.เริ่มเห็นสัญญาณการโยกเม็ดเงินลงทุน จาก “สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ” เข้าสู่ตลาดหุ้น และน้ำมัน ผ่านการขายพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้น สะท้อนความคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่รีบร้อนในการปรับอัตราดอกเบี้ยในระบบขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น การถือครองเงินสด ฝากเงินในธนาคาร หรือลงทุนในพันธบัตรจึงไม่ตอบโจทย์ในเวลานี้
  • 4.เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) มีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย หลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559- 2563) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิประมาณ 6.2 แสนล้านบาท โดยในปี 2559 ซื้อสุทธิ 77,927 ล้านบาท ปี 2560 ขายสุทธิ 25,755 ล้านบาท ปี 2561 ขายสุทธิ 287,458 ล้านบาท ปี 2562 ขายสุทธิ 45,244 ล้านบาท และปี 2563 ขายสุทธิ 264,385 ล้านบาท ดังนั้น มีโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินไหลกลับเข้าตลาดหุ้นประมาณ 1.5 – 2 แสนล้านบาท ในปี 2564 หากเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวตามคาด ประกอบกับตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจไทยเน้นไปทางด้านการผลิตอุตสาหกรรม ส่งออก และท่องเที่ยว

“เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะหนุนให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นทะลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ปัจจุบันหลักทรัพย์บัวหลวง มองเป้าหมายดัชนีปี 2564 ที่ระดับ 1,550 จุด คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 86 บาท และหากภาคการท่องเที่ยวกลับมา และส่งออกฟื้นตัว ก็อาจปรับประมาณการดัชนีขึ้นได้อีก อีกทั้งในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเริ่มไต่ระดับขึ้นมายืนแถว 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรกลุ่มปตท.”

นายชัยพร กล่าว

นายชัยพร กล่าวอีกว่า ปัจจัยระยะสั้นที่นักลงทุนยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ 1.ปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ และการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลในสหรัฐฯ มองว่าจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นเอเชีย และ 2.ปัจจัยภายในประเทศ เช่น เรื่องรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ว่าจะส่งผลดีต่อตลาดมากน้อยขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่ง, มาตรการแจกเงิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 2 เดือน, การลดอัตราอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ 0.01% เป็นต้น อย่างไรก็ดีสำหรับปัจจัยระยะยาวยังคงต้องติดตามเรื่องความเสถียรภาพทางการเมือง และการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

สำหรับกลุ่มแนะนำลงทุน คือ 1.กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ โดยจะได้รับแรงหนุนมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และกำลังซื้อกลับมา 2.กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ กลุ่มคอนซูเมอร์ไฟแนนซ์และกลุ่มพาณิชย์ 3.กลุ่มท่องเที่ยว คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และ 4.กลุ่มโรงพยาบาล

ส่วนกลุ่มหลีกเลี่ยง คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เพราะราคาแพงเกินไป ฉะนั้นต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน เช่นเดียวกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่น่าสนใจในเวลานี้ อย่างไรก็ดีสำหรับมุมมองการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นักลงทุนสามารถลงทุนได้ โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนน่าจะใกล้เคียงดัชนี ภายหลังการตั้งสำรองฯน้อยลงในปีนี้

“ดัชนีอาจผันผวนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เพราะเข้าใกล้เป้าหมายของปีนี้แล้ว ฉะนั้นอาจเห็นแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่บนความเชื่อมั่นที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว เราจะเห็นตลาดหุ้นมีแรงซื้อกลับ เบื้องต้นมองแนวรับระดับ 1,480 จุด”

นายชัยพร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top