LiVE The Series: สูตรปั้นคนตัวเล็กสู่ความสำเร็จแบบมหาชน

แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ในประเทศไทยจะมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านราย หรือคิดเป็น 34.7% ของมูลค่าจีดีพี กลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าธุรกิจ SMEs และ Startups มักจะประสบปัญหาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้หลายกิจการต้องล้มหายตายจากไปอย่างน่าเสียดาย

ในปี 65 ตลาดทุนไทยกำลังยกระดับให้กลุ่มธุรกิจ SMEs และ Startup สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ผ่านกระดานซื้อขายหุ้นแห่งที่ 3 หรือ LiVE Exchange ที่มีความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายภาคส่วน นำโดยหน่วยงานแกนหลักอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์บริษัทที่เข้าเงื่อนไขการระดมทุนผ่านกระดาน LiVE Exchange ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2565 ก่อนที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมประกาศเกณฑ์มีผลในวันที่ 31 มี.ค.2565

“LiVE THE SERIES” มีโอกาสพูดคุยกับฟากฝั่งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) แถวหน้าผ่านแนวความคิดจากนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท แอสเซท โปรแมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ผู้คร่ำหวอดวงการตลาดทุนไทยด้วย ประสบการณ์กว่า 30 ปีบนเส้นทางสายที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ ปลุกปั้นผู้ประกอบการรายเล็กไปถึงรายใหญ่สู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านกลไกลของตลาดหุ้นไทยมาแล้วหลายบริษัท

นายสมศักดิ์ CEO APM เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ของไทยคือขาดการวางแผนบริหารจัดการที่เป็นระบบ โดยเฉพาะระบบงานบัญชี ,ระบบงานบริหารที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากขาดโอกาสเข้าถึงบุคลากรที่มีมาตรฐาน และสภาพคล่องที่ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ตามกลไกลของตลาดทุนเดิมๆได้ จึงต้องอาศัยการกู้ยืมเงินที่มีต้นทุนทางการเงินสูงเป็นหลัก กลายเป็นเหมือนการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เพราะเมื่อถึงวันที่เกิดภาวะวิกฤติกลายเป็นว่าผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวเกิดการล้มหายตายจากไปจากวงจรธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับแหล่งเงินจากตลาดทุนเปรียบเสมือนได้รับวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจในหลายๆ มิติ สะท้อนได้จากบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทบทุกราย แม้ว่าจะเกิดวิกฤติแต่ก็ยังสามารถอยู่รอดพ้นดำเนินกิจการต่อไปได้ เป็นการสะท้อนว่าการดำเนินธุรกิจที่ดีไม่ใช่อยู่ที่การทำกำไร แต่อยู่ที่การรักษาสภาพคล่องกระแสเงินสดการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่า

“LiVE Exchange” เป็นโครงการที่ตลาดทุนใช้เวลาพัฒนามากกว่า 10 ปี เป็นกระดานแห่งที่ 3 ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเพื่อเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการคุ้มครองด้านความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนกลุ่มที่ได้รับการอนุญาต จากการพบปะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมากมีความสนใจที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งบริษัทที่สามารถเข้าระมดทุนในกระดาน Live Exchange ก็สามารถเข้าไประดมทุนในกระดาน mai ได้ดีขึ้นในอนาคต”นายสมศักดิ์ กล่าว

สำหรับเงื่อนไขการเข้าระดมทุนผ่านกระดาน LiVE Exchange คือบริษัทต้องแปลงสภาพเป็น “บริษัทมหาชน” ดังนั้นความสำคัญอันดับต้นๆของผู้ประกอบการคือต้องรับผิดชอบต่อมหาชน โดยต้องมุ่งเน้นด้านความซื่อสัตย์ ,การเปิดเผยข้อมูลแบบตรงไปตรงมา ,ความรับผิดชอบที่ต้องมี แม้ว่าจะเป็นเรื่องของนามธรรม แต่ทั้งหมดนี้คือหัวใจของการเข้าถึงแหล่งทุน เพราะตลาดทุนไทยคือต้องมี “TRUST” คือต้องมีความน่าเชื่อถือต่อการรับผิดชอบต่อสาธารณะ

“ส่วนตัวได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่และกลุ่มสถาบันก็ค่อนข้างมีความสนใจลงทุนในบริษัทที่จะเข้าระดมทุนในกระดาน Live Exchange เพราเล็งเห็นถึงผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai และยังเป็นบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี เช่นเดียวกับฝั่งของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากการเดินสายพบปะหลายรายก็มีความสนใจที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯผ่านกระดาน Live Exchange นับเป็นบันไดก้าวแรกจะสามารถไปสู่การระดมทุนผ่านกระดาน mai ได้ในอนาคต”

นายสมศักดิ์ กล่าว

CEO APM กล่าวอีกว่า บริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีข้อดีหลายมิติ ยกตัวอย่างคือด้านชื่อเสียงที่ดีได้รับการยอมรับน่าเชื่อถือที่มากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเติบโตได้ดีเช่นกัน นอกจากนี้การระดมทุนต้นทุนที่ต่ำยังเป็นส่วนขับเคลื่อนให้ธุรกิจขยายกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“นอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเป็นส่วนช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นหรือผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งรูปแบบเงินปันผล, กำไรจากการขายหุ้น เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข้อสงสัยจากผู้ประกอบการหลายรายเหมือนกันว่า เมื่อไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีศักยภาพจ่ายเงินปันผลได้อยู่ดี แต่ในระยะยาวก็อาจจะเห็นหลายบริษัทที่ถูกบั่นทอนศักยภาพเรื่องดังกล่าวเพราะแบกรับต้นทุนทางการเงินสูง เป็นปัญหากระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน จึงทำให้เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นไม่ค่อยกล้าตัดสินใจจ่ายเงินปันผลออกไปจากกิจการ หรือบางรายก็มีข้อจำกัดกรณีกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเอกชน ทำให้ไม่ได้รับเงินปันผลเพราะต้องขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของเงินทุนก่อนถึงจะทำได้”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top