เงินบาทเปิด 34.78 แนวโน้มอ่อนค่า ตลาดกังวลเฟดขึ้นดบ.แรง กรอบวันนี้ 34.75-34.90

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.78 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 34.76 บาท/ดอลลาร์ และล่าสุดอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 34.83 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ และบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากที่ตลาดคาดการณ์ว่า ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สัปดาห์นี้ มีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้มากกว่า 0.50% หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเดือนล่าสุดออกมาอยู่ในระดับ
สูง

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.75 – 34.90 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (10 มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.27924% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.71923%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 134.80 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 133.98 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0484 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0595 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 34.670 บาท/ดอลลาร์
  • ก.อุตฯ เผยค่าเงินบาทอ่อนหนุนส่งออก ดันราคาสินค้าไทยถูกลง ขายได้มากขึ้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย แนะผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยง ใช้วัตถุดิบทดแทนการนำเข้า
  • สศค.คาดจีดีพี ปี 66 ฟื้นตัวชัดเจน ดันรายได้รัฐบาลเพิ่ม 3.8% จากปี 65 โดยรายได้หลักมาจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร-ศุลกากร และรัฐวิสาหกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่รวม 7 เดือนปี 65 จัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าหมาย 3.7% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5%
  • ททท. รุกทำตลาดต่างชาติ ชูนโยบายสำคัญเท่ากัน ปักธงปี 2565 ดึงยุโรป-สหรัฐ-ตะวันออกกลางเที่ยวไทยเกือบ 4 ล้านคน สร้างรายได้ 3 แสนล้านบาท
  • คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หารือเรื่องการปรับราคาดีเซล รายสัปดาห์ที่ทยอยขึ้นแบบขั้นบันได โดยหากที่ประชุม กบน.อนุมัติขึ้นราคาก็จะไม่เกิน 1 บาท/ลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาแตะ 35 บาท/ลิตร
  • กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในวันนี้ โดยไม่มีประเทศใดที่ถูกสหรัฐระบุว่าจงใจบิดเบือนค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3% โดยดัชนี CPI ดังกล่าวสูงกว่าระดับ 8.3% ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าระดับ 8.5% ที่ทำไว้ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2524
  • หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ทำให้นักลงทุนคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในวันพุธ และจะปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนก.ค. และมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เช่นกันในเดือนก.ย. ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างมากดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้
  • ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน มิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
  • ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม ธนาคารอังกฤษ (BoE) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือน พ.ค. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราการว่างงาน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 65)

Tags: ,
Back to Top