BAY คาดกรอบบาทสัปดาห์นี้ 35.25-35.70 จับตาประธานเฟด-ECB สื่อสารตลาด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.25-35.70 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.49 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 35.23-35.57 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ยกเว้นเงินเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวต่อสภาคองเกรสว่า จุดมุ่งหมายของเฟดต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี เป็นลักษณะไม่มีเงื่อนไข แม้จะยอมรับว่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้อัตราว่างงานสูงขึ้น และอาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยไม่ได้ โดยเฟดตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ขนาดงบดุลของเฟดเล็กลง 2.5 หรือ 3 ล้านล้านดอลลาร์จากระดับปัจจุบัน

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 11,011 ล้านบาท และมียอดขายพันธบัตร 10,280 ล้านบาท โดยมีพันธบัตรที่ถือครองโดยต่างชาติครบอายุ 6,979 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ คาดว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับงานสัมมนาที่จัดโดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งจะเป็นเวทีสื่อสารกับตลาดเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายจากทั้งประธานอีซีบี และประธานเฟด ขณะที่เครื่องบ่งชี้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และยูโรโซนชะลอตัวลงมากเกินคาดในเดือน มิ.ย. ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นลดลง โดยตลาดเงินคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะแตะระดับ 3.3% ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งต่ำกว่า 3.5% ที่เคยคาดไว้เดิม ส่วน Implied Rate สำหรับสัญญาดอกเบี้ยล่วงหน้าสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 3.18% ซึ่งสะท้อนว่าเฟดอาจจะไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มากหลังไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือน พ.ค.ของสหรัฐฯ และการเคลื่อนไหวของราคาก๊าซธรรมชาติ ขณะที่เยอรมนีส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินเรื่องก๊าซกรณีการจ่ายพลังงานของรัสเซียยุติลง รวมถึงความเห็นใดๆ จากที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก G-7 ที่อาจเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเยน ซึ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในภาวะเช่นนี้กรุงศรีมองว่าหากไม่มีประเด็นใหม่ ค่าเงินดอลลาร์อาจย่ำฐานแกว่งตัวออกด้านข้าง

สำหรับปัจจัยในประเทศ ข้อมูลจากกรมศุลกากรบ่งชี้ว่ามูลค่าส่งออกเดือน พ.ค.ขยายตัว 10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าพุ่งขึ้น 24.1% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1.87 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่าการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะส่งผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจ สนับสนุนมุมมองของกรุงศรีที่ว่า กนง.จะประเดิมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 25bp สู่ 0.75% ในเดือน ส.ค.นี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top