บลจ.วรรณ ให้เป้า SET ปีหน้า 1,780 จุดโดดเด่นกว่าตปท.จากการเลือกตั้งหนุนบรรยากาศลงทุน

นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปี 66 มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ปัจจัยแรก ภาวะเงินเฟ้อสหรัฐที่คาดว่าจะเริ่มอิ่มตัว แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะคงเดินหน้าต่อเนื่องไปถึงต้นไตรมาส 2/66 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 5% +/- จากนั้นคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2567

ปัจจัยที่สอง คือ นโยบายของจีน คาดว่าทางการจีนจะเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Zero-Covid และอาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย น่าจะมีความชัดเจนก่อนไตรมาส 2/66 ซึ่งจะเป็นผลบวกกับภาคการท่องเที่ยวของไทยและค่าเงินบาท

ส่วนปัจจัยเฉพาะตัวของไทย คือ การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในไตรมาส 2/66 เป็นผลดีต่อภาพการลงทุน เพราะในอดีตที่ผ่านมาช่วงเดือนแรกหลังการเลือกตั้งตลาดหุ้นมักจะตอบรับในเชิงบวก

นายมณฑล กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้จะเห็นว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 66 ภาพการลงทุนมีแนวโน้มค่อนข้างดี จึงให้เป้าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปีหน้าที่ 1,780 จุด โดยมีค่า PE อยู่ที่ 16 เท่า จากปีนี้ 1,620 จุด ขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศอาจยังมีความกังวลภาวะเศรษฐกิจกดดันอยู่ ทำให้ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นแค่ “เทรดดิ้ง”

“หุ้นไทยมี story ว่าเรา Reopening ที่เพิ่งเริ่ม และถ้าเราเร่งตัวขึ้นก็จะดี แต่โลกกำลังเข้าสู่ recession ฉะนั้นรัฐบาลต้องเร่งการจับจ่ายใช้สอย และบ้านเรามีการเลือกตั้ง ซึ่งปกติหลังเลือกตั้งตลาดจะ growth 4% ปีหน้าเศรษฐกิจไทยมีความเป็นไปได้โต 3-4%”นายมณฑล กล่าว

นายมณฑล กล่าวว่า ตลอดปี 65 ที่ผ่านมาภาพการลงทุนหลักมีปัจจัยลบค่อนข้างมาก ทั้งการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้ง นโยบาย Zero-Covid ของจีน ซึ่งเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้คิดรวมแล้วมีน้ำหนักเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP โลก ทำให้คาดว่า GDP โลกปีนี้จะเติบโตประมาณ 3.2% และยังจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ GDP โลกปี 66 จะขยายตัวได้แค่ 2.7%

และจากปัญหาข้างต้นทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีและหุ้นเมกกะเทรนด์ที่เคยโดดเด่นมาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต่างปรับตัวลดลงกว่า 20% อาจจะพูดได้ว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่สามารถสร้างผลตอบแทนเกินกว่าค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของโลกที่ 8.8% ได้เลย

สำหรับตลาดหุ้น คาดการณ์ผลตอบแทนกันอยู่ไม่ถึง 10% เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกเติบโตไม่มาก ทำให้การลงทุนในหุ้นอาจจะต้องมองให้เป็นการถือระยะยาวขึ้นเป็นระดับ 6-12 เดือน เน้นหุ้นพื้นฐานดีที่เกี่ยวกับการบริโภค ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจอยู่เพราะมีปัจจัยเฉพาะตัวทั้งเลือกตั้งและการท่องเที่ยว

ด้านตลาดต่างประเทศ ตลาดหุ้นจีนน่าสนใจหากผ่อนคลายนโยบาย Zero–Covid ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐอาจจะมีจังหวะในช่วงที่เฟดปรับมุมมอง แต่อาจจะยังไม่เห็นท่าทีที่ชัดเจนในช่วงต้นปี สำหรับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น ทองคำอาจจะได้ผลบวกบ้างจากการอ่อนค่าของเงินสหรัฐฯ

ขณะที่การลงทุนในกองทุนทางเลือกอย่างทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ยังมีแนวโน้มทรงตัว ซึ่งน้ำหนักการลงทุนมองว่าเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ของรายบุคคลมากกว่า ยังไม่มีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่น่าสนใจอีกประเภท คือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Government Bond) รุ่นอายุ 3-5 ปี ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งเป็นผลตอบแทนระยะกลางที่ดีเหมาะสำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ส่วนผลกระทบจากการซื้อขายหุ้นบมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) นายมณฑล กล่าวว่า กองทุนหุ้นไทยไม่ได้รับผลกระทบเพราะ MOREเป็นหุ้นเล็ก มีมูลค่าตลาดไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาทซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเข้าลงทุนได้ ขณะที่โบรกเกอร์ที่รับผลกระทบ อาทิ บล.เอเชียเวลท์ บล.ไอร่า บล.อาร์เอชบี ไม่มีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้น ฉะนั้นผลกระทบแทบจะไม่มี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top