สรท.ชี้ส่งออกไทยปี 66 เผชิญความท้าทายสูง อาจโตไม่ถึง 1% คาด Q1 หด 10%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า การส่งออกของไทยในปี 2566 มีปัจจัยที่ท้าทายมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเติบโตได้ไม่ถึง 1% แต่ทั้งนี้ สรท.ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 1-2% ไปก่อน และรอให้คณะกรรมการชุดใหม่มีการประเมินและตัดสินใจอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/66 จะหดตัวราว 10% (YoY) เนื่องจากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 การส่งออกของไทยมีการเติบโตค่อนข้างสูง และคาดว่าการส่งออกในไตรมาส 2/66 อาจจะยังไม่ฟื้นตัวนัก โดยจะยังหดตัวราว 5% แต่หลังจากนั้นไปแล้ว การส่งออกของไทยจะขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เป็นสำคัญ

“ถ้าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายไปมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ถ้าทุกอย่างยังสามารถบริหารจัดการได้ การส่งออกในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นบวกได้ แต่ต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมัน เงินเฟ้อสหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าราวเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. น่าจะเห็นความชัดเจน และคาดการณ์ได้ชัดกว่านี้” ประธาน สรท.ระบุ

ทั้งนี้ มองว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ยังสามารถเติบโตได้ดี ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร, รถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์

นายชัยชาญ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในเดือนมี.ค. 66 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 23,000 – 23,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (มี.ค. 65) ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 28,800 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกเดือน ก.พ.66 มีมูลค่า 22,376 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.7%

“การส่งออกในเดือนมี.ค.นี้ ยังได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัย คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ, เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ไม่เร็วอย่างที่คาด และดัชนี PMI ของยุโรปยังต่ำกว่าระดับ 50 ที่เป็นระดับปกติ” นายชัยชาญ กล่าว

พร้อมระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนภายหลังการเปิดประเทศ ยังเติบโตได้ช้ากว่าที่ สรท.คาดไว้ การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศลดน้อยลง การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมไม่เร็วเท่าที่คาดไว้ ดังนั้นจึงต้องติดตามว่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงมี.ค.จะเป็นอย่างไร ซึ่ง สรท.อาจจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าไทย-จีน เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

นายชัยชาญ กล่าวว่า ในปัจจุบัน สรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยทั้งปี 2566 ไว้ที่ขยายตัว 1-2% (ณ เดือนเม.ย.66) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงิน-ตลาดทุน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

1.1 ปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้า เทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้า และต้นทุนราคาพลังงานโลกมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ

1.2 ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง

2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือน มี.ค. ที่หดตัวรุนแรง โดยเฉพาะกิจกรรมภาคการผลิตในกลุ่มยูโรโซน ขณะที่ PMI ของสหรัฐ หดตัวน้อยลงในเดือนมี.ค. (MoM) เป็นผลจากปัญหาอุปทานค่อนข้างกระจุกตัว สินค้าคงคลังยังคงทรงตัวในระดับสูง

ประธาน สรท. ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิต และภาคครัวเรือน ให้อยู่ระดับที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค

2. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ไม่ให้มีความผันผวนเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่ม Local Currency เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าของไทย

3. พิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องค่าระวางเรือว่า เริ่มเห็นทิศทางขาลง ซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกต่อผู้ส่งออกของไทย และผู้นำเข้าปลายทาง ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางได้ดีขึ้น ขณะที่สถานการณ์ของตู้คอนเทนเนอร์ยังมีเพียงพอรองรับการส่งออกสินค้า ไม่มีปัญหาขาดแคลนเหมือนเช่นก่อนหน้านี้ จึงยังช่วยให้การส่งออกของไทยมีตัวช่วยที่ดี ภายใต้ภาวะต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ยังสูง เช่น ต้นทุนราคาพลังงานในประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 เม.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top