INTERVIEW: เปิดใจเลขา ก.ล.ต. EP 2 : อย่าล้อเล่นกับระบบ!! Program Trade-Short Sell

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเด็นการขายชอร์ต (Short Selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) ถูกหยิบยกกันมาถกเถียงกันว่ามีส่วนทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างนักลงทุนหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรายย่อย จนเป็นเหตุให้ ก.ล.ต.ได้ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลทั้ง Short Selling และ Program Trading วางไทม์ไลน์เปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในไตรมาส 2/67 ก่อนประกาศใช้ในไตรมาส 3/67

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า มาตรการควบคุมการซื้อขาย Short selling และ Program trading เป็น 2 เรื่องที่วงการตลาดทุนติดตามอยู่ และบั่นทอนความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย

ก.ล.ต. มองภาพการควบคุมทั้ง 2 เรื่องใน 2 มิติ ได้แก่

1. การปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นการมองตามมิติ Compliance ทั้งการ Short selling ที่มีการทำ Naked short หรือไม่ แล้ว Naked short นำพาสู่ไปการที่บางคนทำได้แล้วไม่ผิดกฎหมายหรือไม่

2. การมี Short selling และ Program trading กระทบกับความเรียบร้อยของตลาดทุนหรือไม่ ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ได้เปรียบ-เสียเปรียบของนักลงทุนแต่ละกลุ่มหรือไม่

จากการมองใน 2 มิติ ส่งผ่านมาถึงแนวทางในการกำหนดมาตรการที่ตอบทั้ง 2 มิติว่าจะต้องเกิดการปฏิบัติตามเกณฑ์ ตามกฎหมาย และเมื่อเกิดแล้วมีการควบคุมคุณภาพของตลาดทุน

มาตรการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ออกมาในการควบคุม Short selling และ Program trading เป็นสิ่งที่ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. มีการหารือกัน และได้พูดคุยกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (ASCO) รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ก็มีผลการศึกษาโดยที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่ได้ศึกษาดูข้อมูล ดูจากข้อเท็จจริง และเปรียบเทียบกับมาตรการสากล

มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเผยแพร่ออกมา และเป็นมาตรการที่ก.ล.ต. เห็นตรงกันที่จะต้องวางแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นอย่างเหมาะสม อย่างกรณีที่มีการเรียกร้องจากให้แบน Program trading แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต. มองตรงกันว่าสิ่งที่ควรแบน คือ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

“ก.ล.ต. มีภาพที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าคนทำหรือเครื่องทำ ถ้าไม่เหมาะสมก็ควรต้องโดนแบน ถ้าเกิดขึ้นก็ควรโดนลงโทษ ฉะนั้นก็ควรมีเครื่องมือในการป้องกันเพื่อไม่ให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น”

เห็นได้จากตัวอย่างแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศออกมา เช่น Resting time เมื่อใส่คำสั่งเข้าไปแล้ว ก็ต้องมีระยะเวลากำหนด ไม่ใช่ใส่แล้วถอน ใส่แล้วถอน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมองเรื่องของการส่งออเดอร์ เช่นกรณีของ Short selling เป็นสิ่งที่ให้ซื้อได้-ขายได้ ไม่มีหุ้นก็ยืมหุ้นมา ก็มีการกังวลว่าขายโดยไม่มีของส่งมอบ จะทำอย่างไรให้มั่นใจว่ามีของส่งมอบตามเกณฑ์ แต่ถ้าทำ Short selling มากจนกระทบต่อราคา ก็จะเป็นแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต. เห็นชอบตรงกันในเรื่องการใช้ Price rule กับหุ้นรายตัว จากเดิมที่ใช้ Price Rule เป็นกำหนดการทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) ซึ่งเป็นการมอง Systemics เป็นหลัก แต่ตอนนี้เมื่อกระทบราคา จึงได้เพิ่มเกณฑ์ Market Cap เข้ามาใช้กับหุ้นรายตัว เพื่อป้องกันการทำ Short selling หุ้นขนาดเล็ก พร้อมนำเกณฑ์สภาพคล่องมาพิจารณา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหา Program trading ได้เช่นกัน เพราะ Program trading ใช้ Algorithm ซื้อได้ขายได้ ซึ่งมาตรการควบคุมใหม่ที่ออกมาจะทำให้การใช้โปรแกรมเหล่านี้มีข้อจำกัดมากขึ้น

“เรามอง Program trading เป็นรถสปอร์ต ขณะที่นักลงทุนรายย่อยเป็นรถที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า เราออกแนวทาง และรับผิดชอบแนวทาง เราคงไม่ดึงรถสปอร์ตมาเป็นรถที่เครื่องยนต์ต่ำลง แต่ทำอย่างไรให้ไม่ว่าจะเป็นรถสปอร์ต รถเครื่องยนต์ต่ำ ถ้าทำผิดเราต้องจับได้ เอ๊ะได้ เราต้องป้องกันได้ ส่วนรายละเอียดที่ออกมาก็ได้หารือ กำลังดูกันสุดท้าย และจะมีของ ก.ล.ต.ออนท็อปเข้าไป กำกับเพิ่มเติม และ Empower นักลงทุน” นางพรอนงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุม Program trading ให้มีข้อจำกัดมากขึ้น อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยที่ลดลงไปบ้าง แต่อยากให้มองการลงทุนในตลาดทุนเป็นการลงทุนระยะยาว ปรับพอร์ตเมื่อ Value เปลี่ยน และสร้างความยั่งยืน ซึ่งมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยมาจากนักลงทุนหลากหลายกลุ่ม ทั้งต่างชาติ สถาบัน และรายย่อย ก.ล.ต.ยังเชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้ง 3 กลุ่ม

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 67)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top