IPOInsight: SAV หนึ่งเดียวแห่งน่านฟ้ากัมพูชา กอดสัมปทานแน่นต่อสัญญายาว

บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) บริษัทในกลุ่ม บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) ที่ประกอบธุรกิจบริหารจัดการจราจรทางอากาศเพียงหนึ่งเดียวในน่านฟ้ากัมพูชา ครองสัมปทานยาวนานถึง 49 ปี และยังมั่นใจว่าจะได้ต่ออายุสัมปทานเพิ่มแน่นอน ขณะที่รายได้โตรับยอด Traffic Volume พุ่ง ก่อนที่ปีหน้าเชื่อว่าจะเข้าสู่จุดพีคกลับไปเท่าก่อนโควิด เปิดระดมทุนครั้งใหญ่ขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 224 ล้านหุ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงปลายเดือน ก.ย.66

ปัจจุบัน SAV ถือหุ้นทั้ง 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาตั้งแต่ปี 45-94 ในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมเส้นทางบินทั้งหมดของน่านฟ้าประเทศกัมพูชา

รายได้หลักของ CATS แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1) รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ (Landing &Take-off : Domestic)

2) เที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing & Take-off: International)

3) รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight)

นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SAV ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า วัตถุประสงค์หลักในการระดมทุน คือเพื่อใช้ชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่มีอยู่ราว 1 พันล้านบาท หลังจากเคลียร์ได้ก็จะทำให้ SAV เป็นบริษัทปลอดหนี้ (Debt Free Company) จะมีความคล่องตัว (Flexibility) เพิ่มสูงขึ้นมาก เปิดกว้างสำหรับการลงทุนต่าง ๆ ในอนาคต

แผนธุรกิจระยะยาวภายใต้ CATS ขณะนี้มีสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลกัมพูชายาวไปถึงอีก 28 ปีแล้ว และมั่นใจว่าจะได้ขยายอายุสัมปทานเพิ่มอีกด้วยในอนาคต ตามเงื่อนไขที่มีไว้ตั้งแต่ต้น คือ หากบริษัทลงทุนพัฒนาอุปกรณ์และระบบเพิ่มเติมก็จะเจรจาขอขยายอายุสัมปทานได้

“ที่ผ่านมาเราเริ่มต้นจากสัญญา 15 ปี และค่อย ๆ ขยายเพิ่มมา จนกระทั่งตอนนี้เรามีอายุสัมปทานถึง 49 ปี ใช้ไปแล้ว 21 ปี เหลืออีก 28 ปี ที่สำคัญเรามีส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐบาลกัมพูชาในอัตราที่เหมาะสม อย่างถ้ารายได้จาก Landing & Take-off เราจ่ายให้เขาที่ 50% ส่วนรายได้จาก Overflight ที่ 30%” นายธีระชัย กล่าว

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า รายได้ของบริษัท ส่วนแรกจะเพิ่มขึ้นไปตามยอด Traffic Volume ทั้งในส่วนของรายได้จาก Landing & Take-off ที่จะเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา ขณะที่รายได้จาก Overflight หากประเทศรอบ ๆ กัมพูชาอาทิ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย หรือเมียนมา เจริญเติบโตขึ้น เราก็จะได้รับประโยชน์ตรงนี้

ขณะที่ทางกัมพูชาก็มีแผนสร้างสนามบินใหม่เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ 1) สนามบินนานาชาติเสียมเรียบแห่งใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของนครวัดนครธม คาดจะเปิดให้บริการได้ปลายปีนี้ และ 2) สนามบินนานาชาติพนมเปญแห่งใหม่ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดจะเปิดใช้บริการได้ในอีกสองปีข้างหน้า

“ปี 61-62 ก่อนหน้าโควิด รายได้เราเติบโตปีละ 13-14% ซึ่งเราก็รักษาระดับไว้ได้หลายปีติดต่อกัน และช่วงหลังโควิดมา อย่างปีที่แล้ว รายได้เราเติบโตถึง 120% ส่วนปีนี้น่าจะ 40-50% และในปีหน้าคาดว่า Traffic Volume จะกลับไปสู่ช่วงก่อนโควิดได้แล้ว” นายธีระชัย กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 66)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top