02-253-5000, 02-651-4700
จับเทรนด์สื่อไทยกับรายงาน Thailand Media Landscape 2021-2022

จับเทรนด์สื่อไทยกับรายงาน Thailand Media Landscape 2021-2022

จับกระแสสื่อไทยในแง่มุมต่าง ๆ จากรายงาน “ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564-2565” หรือ “Thailand Media Landscape 2021-2022” จัดทำและเผยแพร่โดยบริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านมีเดียอินเทลลิเจนซ์และสำนักข่าวชั้นนำของไทย ซึ่งรวบรวมและนำเสนอแนวโน้ม ความเคลื่อนไหว กลยุทธ์ ของสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ และสื่อดั้งเดิม รวมทั้งมุมมองที่มีต่อการทำงานของสื่อ เทคโนโลยี และเมกะเทรนด์ที่จะส่งผลกระทบต่อสื่อจากนักวิชาการ นักการตลาด-ประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน

จากรายงานภูมิทัศน์สื่อไทยปีล่าสุด พบว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นสื่อที่ถูกนำมาใช้งาน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและพูดคุยจากทั้งสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากโซเชียลมีเดียสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ค้นหาข้อมูล

ขณะที่โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มได้พัฒนาและเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เปิดตัว Twitter Space เพื่อนำเสนอพื้นที่อิสระในการพูดคุยในหัวข้อเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือยูทูบ (YouTube) ที่เปิดตัวฟีเจอร์ Shorts ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชอบคอนเทนต์สร้างสรรค์ ไอเดียสดใหม่ และสั้นกระชับ ขณะที่ติ๊กต็อก (TikTok) ก็ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย

ส่วนสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์นั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เว็บไซต์ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสื่อหลักที่ทั้งสื่อมวลชน สำนักข่าว และแบรนด์ต่าง ๆ ใช้งาน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการ ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ยังคงมีบทบาทอย่างมากในการทำการตลาดดิจิทัลของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่อินฟลูเอนเซอร์ทั้งระดับ KOL (Key Opinion Leader) หรือ KOC (Key Opinion Customer) ที่มีผู้บริโภคติดตามในวงกว้างสามารถสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม จึงทำให้อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความนิยมมาโดยตลอด

นอกจากนี้ รายงาน “ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564-2565” ยังได้นำเสนอมุมมองและการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้ม สถานการณ์ ความเคลื่อนไหวของสื่อและพีอาร์จากนักวิชาการ ผู้บริหารพีอาร์เอเจนซี่ และสื่อมวลชนที่จะมาสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานและอนาคตของสื่อต่าง ๆ หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเมกะเทรนด์อย่าง Metaverse เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

ผู้สนใจสามารถอ่านและติดตามข้อมูลภูมิทัศน์และสถานการณ์สื่อไทยในรายงานภูมิทัศน์สื่อไทย ปี 2564-2565 ซึ่งจัดทำโดย บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ได้ที่เว็บไซต์ https://www.infoquest.co.th/thailand-media-landscape-2022

ส่องเทรนด์สื่อไทยปี 65 : Thailand Media Landscape 2021-2022

ส่องเทรนด์สื่อไทยปี 65 : Thailand Media Landscape 2021-2022

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมายาวนานถึงปี 64 นี้ ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและสื่อมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตสู่วิถีใหม่ (New Normal) พฤติกรรมของผู้บริโภคในการเสพสื่อก็เปลี่ยนแปลงไป มีความหลากหลายมากขึ้น เหล่านี้ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งของสื่อไทย

อินโฟเควสท์ได้รวบรวมแนวโน้มที่น่าสนใจของสถานการณ์สื่อไทยระหว่างปี 2564 – 2565 จากมุมมองของนักวิชาการ นักการตลาด-ประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ ความคิดเห็น หรือ ทัศนะ ที่มีต่อภูมิทัศน์สื่อและพฤติกรรมการใช้สื่อในปัจจุบัน

  • พฤติกรรมการบริโภคสื่อปี 64 และแนวโน้มปี 65 โดย รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สื่อไทยยุค Narrowcasting โดย ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • การทำพีอาร์ยุค “Now Normal” โดย ขณพัทธ จินฎาสงวน กรรมการผู้จัดการ Verve Public Relations Consultancy
  • กลยุทธ์การทำคอนเทนต์ของสื่อ โดย พรพรรณ ฉวีวรรณ Managing Director จาก CHOM PR
  • อินฟลูเอนเซอร์ “ผู้ส่งอิทธิพลทางความคิด” โดย สุวิตา จรัญวงศ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทลสกอร์  (Tellscore)
  • จับกระแสความท้าทายของสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียปี 65 โดย นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร WorkpointTODAY

ติดตามทุกหัวข้อที่น่าสนใจได้ที่เว็บไซต์ https://www.infoquest.co.th/thailand-media-landscape-2022/interview-media-trend

ที่มา: อินโฟเควสท์

เทคนิคสุดปังใช้มัลติมีเดียเล่าข่าวประชาสัมพันธ์ให้น่าสนใจ

เทคนิคสุดปังใช้มัลติมีเดียเล่าข่าวประชาสัมพันธ์ให้น่าสนใจ

การนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้ในข่าวประชาสัมพันธ์ ช่วยเพิ่มความน่าจดจำให้แก่ผู้อ่าน ด้วยรูปภาพ วิดีโอ อินโฟกราฟิก องค์ประกอบของมัลติมีเดียเหล่านี้ ช่วยสร้างจินตภาพที่ชัดเจนให้แก่ผู้อ่านและยังถ่ายทอดสาระสำคัญของสารได้อย่างหนักแน่น การสอดแทรกสื่อมัลติมีเดียลงในข่าวประชาสัมพันธ์นี้ ผู้อ่านจะสามารถจดจำข้อมูลสำคัญทางสถิติได้ดียิ่งขึ้น เข้าใจข้อมูลที่ซับซ้อนได้อย่างชัดเจน และมีความรู้สึกร่วมกับแบรนด์อย่างหนักแน่นมากยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาข่าวประชาสัมพันธ์ที่ถูกเผยแพร่ทั่วโลกในปี 2563 ของพีอาร์นิวส์ไวร์ พบว่า การเพิ่มรูปภาพประกอบข่าวประชาสัมพันธ์ ได้ผลตอบรับที่สูงกว่าข่าวประชาสัมพันธ์ที่ไม่มีรูปประกอบถึง 2 เท่า และเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อข่าวประชาสัมพันธ์นั้น มีภาพประกอบหลายภาพ

จากรายงานของ Cision’s 2021 Global State of the Media Report (APAC Edition) พบว่า ในรอบปีที่ผ่านมา นักข่าวส่วนใหญ่นิยมนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้ประกอบบทความ โดย 8 ใน 10 มักนำรูปภาพมาประกอบลงในบทความ และอีกเกือบครึ่ง (45%) จากผลสำรวจ มักสอดแทรกวิดีโอลงในบทความอีกด้วย

Source: Cision’s 2021 State of the Media Report (APAC Edition)

ในรายงานยังเปิดเผยอีกว่า มากกว่า 1 ใน 5 ของนักข่าว (ประมาณ 23%) ระบุว่า ประชาสัมพันธ์อาชีพ สามารถทำงานง่ายขึ้นด้วยการนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้ดึงความสนใจของผู้อ่าน นอกจากข่าวประชาสัมพันธ์แบบทั่วไปแล้ว พีอาร์นิวส์ไวร์ยังได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ในรูปแบบสื่อมัลติมีเดียด้วย โดยผู้ใช้สามารถออกแบบให้ตอบโจทย์กับความต้องการ รวมถึงเลือกใช้สื่อมัลติมีเดียให้เหมาะสมได้ ทั้งวิดีโอ รูปประกอบ อินโฟกราฟิก ไลฟ์บนหน้าฟีดโซเซียลมีเดีย การแชร์บนสื่อโซเซียลและปุ่มคอลล์ ทู แอคชั่น

เพื่อชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการเล่าเรื่องด้วยสื่อมัลติมีเดีย จึงขอหยิบยกเทคนิคของการเล่าเรื่องด้วยภาพและวิดีโอที่มีการนำเสนอออกมาได้อย่างเด่นชัดและทรงพลังผ่านสื่อมัลติมีเดียและข่าวประชาสัมพันธ์ ดังนี้

1. เปิดให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำกับประสบการณ์ในโลกเสมือนจริง

ในงานเปิดตัว Disney+ ผู้ให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งรายใหม่ ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้มีการแสดงอันน่าทึ่งของนักร้องยอดนิยม “หลิว จวิ้นเจี๋ย” (JJ Lin) บนดาดฟ้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์ (ArtScience Museum) ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของมารีนาเบย์แซนส์ (Marina Bay Sands)
ภาพการแสดงพร้อมกับทัศนียภาพอันงดงามที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในข่าวประชาสัมพันธ์ชิ้นนี้ จับใจผู้อ่านได้อย่างไร?

Source: https://en.prnasia.com/blog/2021/08/utilizing-multimedia-for-storytelling-in-press-releases/

ด้วยภาพของมารีนาเบย์แซนส์ที่ถูกหยิบยกมาถ่ายทอด พร้อมกับวิดีโออันน่าประทับใจที่มีฉากประกอบของท้องฟ้าและดาดฟ้าอันงดงาม รวมไปถึงการถ่ายทอดห้วงเวลาสำคัญของงานได้อย่างอลังการ ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างท่วมท้น วีดีโอดังกล่าวนี้ เพิ่มอรรถรสของการรับชมด้วยการการนำเสียงดนตรีมาประกอบคลอเคล้า ทำให้ผู้ชมดื่มด่ำและเป็นส่วนหนึ่งกับช่วงเวลามหัศจรรย์นี้

อีกตัวอย่างที่ขอหยิบยกมาเสนอคือ ภาพผู้ชมที่กำลังเฉลิมฉลองกับประเพณีอันทรงคุณค่าในพิธีบูชาเทพเจ้าหม่าโจ้วประจำปี จากบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไต้หวัน Netizen Productions ที่ถ่ายทอดผ่านขบวนพาเหรดวัฒนธรรมสุดยิ่งใหญ่ โดยการปล่อยวิดีโอดึงดูดสายตามาสะกดใจผู้ชมด้วยขบวนพาเหรดที่เต็มไปด้วยแสงสีดนตรีที่มีชีวิตชีวา นำเสนอประเพณีทางศาสนาสู่การผสมผสานทางศิลปะร่วมสมัย

Source: https://en.prnasia.com/blog/2021/08/utilizing-multimedia-for-storytelling-in-press-releases/

2. ส่งความรู้สึกผ่านการเล่าเรื่องด้วยหนังสั้น

ในแคมเปญ #Unbroken ประกันโรคร้ายแรงของแมนูไลฟ์ (Manulife) สิงคโปร์ ได้นำหนังสั้นมาใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวที่กินใจผู้ชม ด้วยการนำเสนอเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการเจ็บป่วยขั้นวิกฤตและวิธีการรับมือเมื่อตกอยู่ในช่วงเวลาเช่นนั้น

หนังสั้นเรื่องนี้ ได้นำเพลงฮกเกี้ยนมาบรรเลงเคล้าคลอไปกับการเล่าเรื่องราว ส่งผลให้เรื่องราวที่นำเสนอนั้นสะเทือนอารมณ์ผู้ชมมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง Manulife ยังได้เผยผลสำรวจว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคร้ายได้ใช้เงินเก็บที่มีไปกับการรักษาจนแทบหมดสิ้น หนังสั้นแคมเปญ #Unbroken นี้ มีผู้รับชมมากกว่า 1.3 ล้านครั้งบนยูทูป ซึ่งสื่อมัลติมีเดียที่ใช้ยังรวมไปถึงภาพอินโฟกราฟิกที่แสดงข้อมูลสำคัญ ๆ ภาพประกอบ และลิงก์สำหรับดาวน์โหลดผลการสำรวจด้วย

3. เผยข้อมูลสำคัญให้เข้าใจง่ายด้วยการใช้อินโฟกราฟิก

เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในปีที่ผ่านมาพีอาร์นิวสไวร์ได้ขยายเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียแปซิฟิกไปอย่างไร จึงได้หยิบยกมานำเสนอในรูปแบบของอินโฟกราฟิก เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงเครือข่ายในการเผยแพร่ข่าวของพีอาร์นิวส์ไวร์ได้อย่างรวดเร็ว และเห็นถึงการเติบโตของแต่ละตลาดผ่านการนำเสนอด้วยข้อมูลพาร์ทเนอร์ทางด้านคอนเทนท์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการนำเสนอในรูปแบบนี้ ผู้อ่านใช้เวลาเพียงไม่นานก็จะค้นพบได้ว่าใครเป็นผู้นำตลาดจากเนื้อหาที่ถูกนำเสนอบนอินโฟกราฟิก

Source: https://en.prnasia.com/releases/apac/pr-newswire-further-strengthens-news-distribution-network-in-key-asia-pacific-markets-298039.shtml

ไม่ว่าคุณจะกำลังมองหาวิธีในการทำให้ข่าวของคุณเข้าถึงได้ง่าย หรือ ต้องการสร้างความรู้สึกร่วมไปด้วยก็ตาม การนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้ในข่าวประชาสัมพันธ์คือหนทางที่จะช่วยให้ข่าวประชาสัมพันธ์ของคุณได้รับการตอบรับที่ดียิ่งขึ้น ทั้งจากตัวผู้อ่าน นักข่าว และนักประชาสัมพันธ์

____

แปลและเรียบเรียงโดยอินโฟเควสท์

ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์

อัปเดตประเด็นข่าวเด่นรายวันกับฟังก์ชัน Editor Topics

อัปเดตประเด็นข่าวเด่นรายวันกับฟังก์ชัน Editor Topics

“Editor Topics” คือ ประเด็นข่าวที่น่าสนใจรายวัน คัดสรรโดยทีมข่าวอินโฟเควสท์ ผู้ใช้งาน NewsCenter และ iQNewsClip สามารถอัปเดตข่าวสารที่อยู่ในกระแสได้ทันที โดยเลือกหัวข้อที่ต้องการจากแถบเมนูด้านซ้าย ตามภาพ

หมายเหตุ: แหล่งที่มาของข่าวเป็นไปตามแพ็คเกจบริการของผู้ใช้งาน

ดาวน์โหลดคู่มือการใช้งาน iQNewsClip ฉบับล่าสุด ได้แล้ววันนี้

ดาวน์โหลดคู่มือการใช้งาน iQNewsClip ฉบับล่าสุด ได้แล้ววันนี้

สำหรับผู้ใช้งานบริการไอคิวนิวส์คลิป (iQNewsClip) สามารถเลือกดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานเวอร์ชันล่าสุดได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 02-253-5000 ต่อ 444

ฮาวทูเสนอข่าวและข้อมูลให้ได้ใจนักข่าวในยุคดิจิทัล

ฮาวทูเสนอข่าวและข้อมูลให้ได้ใจนักข่าวในยุคดิจิทัล

นวัตกรรมที่มากับยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการสื่อมวลชนและธุรกิจประชาสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนโฉมดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้สื่อและบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อต่างพากันนำเสนอคอนเทนต์บนโซเซียลมีเดียและแพลตฟอร์มดิจิทัลกันอย่างแข็งขัน ทั้งไลฟ์สตรีม, push notifications และ ไลฟ์ บล็อกกิ้ง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ปลุกให้นักข่าวและกองบรรณาธิการเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะการทำงานแบบใหม่ และรับมือกับมาตรชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

การสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ การมีส่วนร่วมของผู้อ่าน และการนำเสนอคอนเทนต์บนโซเซียลมีเดียและแพลตฟอร์มดิจิทัล ถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับสื่อมืออาชีพในปัจจุบัน ซึ่งนักประชาสัมพันธ์เองก็จำเป็นต้องปรับตัวและและปรับวิธีการนำเสนอที่เหมาะสม เพื่อให้คอนเทนต์เข้าถึงและตอบสนองความต้องการของสื่อมวลชนได้ดียิ่งขึ้น

พีอาร์นิวส์ไวร์ ได้เชิญ แซลลี่ เซียะ (Sally Tse) ผู้อำนวยการบรรณาธิการของนิตยสารคอสโมโพลิแทน ฮ่องกง (Cosmopolitan Hong Kong) และ นาตาลี โค (Natalie Koh) บรรณาธิการข่าวของ Asian Investor มาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกถึงกลยุทธ์การนำเสนอข่าวของนักข่าวยุคดิจิทัลในงานสัมมนาออนไลน์ของพีอาร์นิวส์ไวร์ หัวข้อ ” How PR Pros Can Evolve With The Media on a Digital Wave”

Sally Tse, Chief Editor, Cosmopolitan Hong Kong

กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพของพีอาร์และนักข่าวยุคดิจิทัล

1. เข้าใจเกณฑ์ชี้วัดกลุ่มเป้าหมายที่กองบรรณาธิการใช้ประเมินคอนเทนต์

แซลลี่ ได้ดูแลการดำเนินการในช่วงการเปลี่ยนผ่านของ Cosmopolitan Hong Kong จากนิตยสารที่ตีพิมพ์จนกลายเป็นสื่อดิจิทัลอย่างสมบูรณ์เมื่อปีที่แล้ว นอกจากเว็บไซต์แล้ว นิตยสาร Cosmopolitan Hong Kong ยังได้ปรับโฉมครั้งใหญ่ที่นำไปสู่การเผยแพร่บนช่องทางโซเซียลมีเดียผ่านทาง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูป และ MeWe

การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นั่นหมายถึง Cosmopolitan Hong Kong ต้องผลิตคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มใหม่ ทีมงานของ แซลลี่ จึงต้องกำหนดเกณฑ์ชี้วัดในการประเมินผลการดำเนินงานใหม่ทั้งหมด พวกเธอได้ใช้เวลาศึกษาและติดตามกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทีมของเธอสามารถกำหนดแผนงานและเกณฑ์การวัดผลได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้คอนเทนต์ของ Cosmopolitan Hong Kong สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดึงกลุ่มผู้อ่านทางเว็บไซต์ไว้ได้ดีขึ้น

เกณฑ์ชี้วัดกลุ่มเป้าหมายที่แซลลี่นำมาใช้ ได้แก่

a. ยอดผู้เข้าใช้งานและจำนวนเพจวิวต่อเดือน

จากข้อมูลในเดือนมีนาคม 2564 เว็บไซต์ของ Cosmopolitan Hong Kong มีผู้ใช้งาน 1.6 ล้านราย และมียอดเข้าชมสะสมโดยเฉลี่ย 40 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่ง แซลลี่ กล่าวว่า กลยุทธ์สำคัญในการนำเสนอคอนเทนต์ให้ได้ผู้รับชมจำนวนมากขนาดนี้ มาจากการนำเสนอคอนเทนต์ที่น่าสนใจและมีคุณค่าแก่ผู้อ่าน โดยนำเสนอผ่านคอนเทนต์ที่เป็นจุดขายหลักของ Cosmopolitan Hong Kong ทั้งในเรื่องแฟชั่น ความงาม และไลฟ์สไตล์

ทั้งนี้ ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Cosmopolitan Hong Kong ส่วนใหญ่มาจากการเข้าถึงเว็บไซต์โดยตรงผ่านการค้นหาบน Google หรือที่เรียกว่า Organic search ซึ่ง แซลลี่ กล่าวว่า ทีมงานของเธอใช้เวลา 2 เดือน เพื่อวางแผนงานสำหรับสร้างคอนเทนต์ให้เหมาะสมตรงตามหลักของ SEO โดยได้ศึกษาค้นคว้าหาคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่นิยมใช้และนำมารวบรวมใส่ไว้ในคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คอนเทนต์ของ Cosmopolitan ปรากฏอยู่ในอันดับต้น ๆ บนหน้าค้นหาของ Google

Credit: Cosmopolitan HK Facebook Page

b. การมีส่วนร่วมบนโซเซียลมีเดีย

การสร้างคอนเทนต์บนโซเซียลมีเดียให้เป็นกระแสนั้น ทีมของแซลลี่ ต้องคอยจับประเด็นเรื่องราวที่คนให้ความสนใจ รวมถึงเรื่องราวที่คนดังให้ความสนใจ เพื่อที่จะได้รู้ว่า มีประเด็นอะไรบ้างที่ผู้อ่านกำลังให้ความสนใจ โดยทีมงานของเธอจะทำวิดีโอหรือ live-streamed เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งานบนโซเซียลมีเดีย นอกจากนี้ แซลลี่ยังใช้โซเซียลมีเดียเพื่อสังเกตและติดตามดูปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ใช้งานที่มีต่อการนำเสนอคอนเทนต์ในหลากหลายรูปแบบนั้นอีกด้วย

c. ความผูกพันและจงรักภักดีของผู้ใช้งาน

การที่จะทำให้ผู้ใช้งานเกิดความผูกพันและติดตามอย่างต่อเนื่องนั้น ทาง Cosmopolitan Hong Kong ได้รวบรวมฟังก์ชั่นการใช้งานที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถตอบสนองต่อคอนเทนต์นั้น ๆ มาไว้ที่เดียวกันอย่างครบครัน ทั้งโพลล์ แบบสอบถาม รวมถึง “shop” ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าที่ได้มีการกล่าวถึงในคอนเทนต์นั้นๆได้ทันที  นอกจากนี้ ยังได้นำลิงก์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงไปยังคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องมาใส่ไว้ด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ นาตาลี โค (Natalie Koh) บรรณาธิการข่าวของ Asian Investor ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกถึงกลยุทธ์ในการนำเสนอข่าวแก่นักข่าวยุคดิจิทัล ไว้ดังนี้

Natalie Koh, News Editor, AsianInvestor

1. เตรียมพร้อมและคาดการณ์ว่า ข่าวใดบ้างที่จะถูกนำเสนอบนสื่อต่างๆในรอบ 24 ชั่วโมง

ติดตามการนำเสนอข่าวของสื่อต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และคาดคะเนถึงประเด็นที่นักข่าวจะนำเสนอต่อ โดย

• ติดตามจากข่าวที่ถูกเผยแพร่จนเป็นไวรัล หรือข่าวจากสื่อคู่แข่ง
• ติดตามประกาศหรือแถลงการณ์จากผู้เกี่ยวข้อง
• ติดตามข่าวในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวที่ถูกนำเสนอ
• ติดตามเรื่องราวที่เป็นกระแสและประเด็นที่ผู้คนกำลังสนใจ

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังต้องติดตามด้วยว่า ในรอบวัน ข่าวถูกนำเสนอออกไปอย่างไรอีกด้วย ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ นักข่าวไม่ได้มีเวลามากพอที่จะใช้ในการเขียนข่าวแต่ละประเด็นขึ้นมา

ยิ่งหากเป็นข่าวด่วนประเด็นร้อนแล้ว นักข่าวต้อง

1. รายงานข่าวทันทีภายใน 15 นาทีแรก โดยมีสาระสำคัญ 2-4 ย่อหน้า
2. ลงรายละเอียดเพิ่มเติมของข่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที หลังจากนั้น
3. อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ต้องนำเสนอความคิดเห็นหรือมุมมองของผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้การรายงานข่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

2. ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในข่าวเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักข่าวในยุคปัจจุบัน

นาตาลี กล่าวว่า นักข่าวสามารถติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากแหล่งข่าวหรือนักประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีทีมวิเคราะห์หรือที่ปรึกษาในการให้คำแนะนำ เพื่อให้ได้ข้อมูลอ้างอิงหรือแง่มุมที่มีผลต่อเนื่องกับข่าว เธอเสริมว่า นักข่าวมักจะติดต่อมาเพื่อขอความเห็นในช่วงสาย ๆ ของวันหลังจากที่บทความได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมกองบรรณาธิการแล้ว

อีกทางหนึ่ง แบรนด์สินค้าต่างๆ ก็สามารถช่วยจัดสรรข้อมูลสำหรับการเขียนบทความหรือสกู๊ปให้กับกองบรรณาธิการในรูปแบบของบทความที่มีความยาว เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มต่างๆ และบทวิเคราะห์เชิงลึกได้เช่นกัน โดยนักข่าวจะใช้ระยะเวลาในการสร้างสรรค์บทความราว ๆ 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น เนื่องด้วยนักข่าวจำเป็นต้องเสาะหาความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเพื่อนำเสนอมุมมองที่รอบด้านแก่ผู้อ่าน

The ‘Most Read’ articles section on the AsianInvestor website (Credit: https://en.prnasia.com/)

3. จับกระแสดิจิทัล ติดตามโซเซียลมีเดีย และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาใช้ในการเสนอข่าว

ยุคดิจิทัลได้นำมาซึ่งรูปแบบการนำเสนอข่าวแบบใหม่แก่นักเขียนและกองบรรณาธิการ ที่ไม่ใช่แค่การนำเสนอข่าวที่น่าสนใจและมีคุณค่า แต่ยังรวมถึงการนำข้อมูลจากเว็บไซต์และโซเซียลมีเดียมาวิเคราะห์เพื่อช่วยกองบรรณาธิการในการตัดสินใจ นาตาลี เสริมว่า การที่เรารู้ว่ากองบรรณาธิการต้องการข้อมูลหรือกระแสใดจากโซเซียลมีเดีย จะช่วยให้เรามองภาพออกว่าเรื่องราวอะไรที่เราต้องสร้างสรรค์และนำเสนอเป็นลำดับถัดไป

ลองมองไปที่บทความและหน้าข่าวยอดนิยมที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์ของดูคุณสิ

กองบรรณาธิการจะเก็บและติดตามข้อมูลข่าวหรือบทความที่เป็นที่นิยมทั้งจากเว็บไซต์ของตนเองและของคู่แข่ง เพื่อนำมาปรับใช้ในการนำเสนอข่าวของตนเองในอนาคต

นาตาลี กล่าวว่า หากข่าวหรือบทความใดเป็นที่นิยม กองบรรณาธิการจะเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และเราก็ต้องนำประเด็นเหล่านั้น ไปนำเสนอลูกค้า

ในโลกโซเซียลมีเดียนั้น กองบรรณาธิการมักให้ความสนใจกับประเด็นร้อนในทวิตเตอร์ รวมถึงคำค้นหายอดนิยมจาก Google ซึ่งสิ่งนี้คือวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และโซเซียลมีเดียเป็นตัวช่วยอย่างดีที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจ

4. หยิบโซเซียลมีเดียมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับนักข่าว

โซเซียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการรายงานข่าว ทำให้นักข่าวสามารถเข้าถึงแหล่งที่มาของข้อมูลและความคิดเห็นต่าง ๆ ได้โดยตรง และยังสามารถนำข้อมูลอ้างอิงหรือหยิบยกคำพูดของผู้ที่เกี่ยวข้องมาทำโพลล์แบบออนไลน์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในบางประเด็นได้เช่นกัน

นาตาลี กล่าวว่า LinkedIn ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยม เนื่องด้วยเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเปิดเผยและรับรองตำแหน่งงานของผู้ใช้งานได้ เธอเคยใช้ InMail เพื่อติดต่อขอความคิดเห็นหรือขอข้อมูลอ้างอิง นอกจากนี้ นักข่าวยังสามารถใช้โซเซียลมีเดียในการเผยแพร่บทความหรือข่าว รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งานที่แสดงความคิดเห็นบนโซเซียลมีเดียได้โดยตรง และยังสามารถนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาใช้ในการรายงานข่าวได้อีกด้วย

____

แปลและเรียบเรียงโดยอินโฟเควสท์

ที่มา: พีอาร์นิวส์ไวร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ

X